กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ชี้ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในยุคปัจจุบันต้องการค่าแรงแพงต้องเพิ่มทักษะดิจิทัลและรู้เท่าทันเทคโนโลยี สร้างความพร้อมในการทำงาน
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การที่จะปรับขึ้นค่าแรงของกลุ่มแรงงานได้นั้น รัฐบาลและกระทรวงแรงงานต้องหารือร่วมกับหลายฝ่าย เพื่อกำหนดอัตราค่าจ้างอย่างเหมาะสมและทุกฝ่ายยอมรับ ดังนั้น หากมีการเพิ่มค่าจ้างแล้ว ลูกจ้างหรือพนักงานในสถานประกอบกิจการจึงจำเป็นต้องมีทักษะฝีมือที่สูงขึ้นด้วย ทั้งทักษะฝีมือที่เกี่ยวข้องกับการทำงานทางตรง และทางอ้อม โดยเฉพาะทักษะความรู้ ความสามารถ ที่ส่งเสริมให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งพบว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องหลายด้าน ทักษะดิจิทัลจึงจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ทำงานต้องมีความรู้พื้นฐาน อีกทั้งเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่ผู้ประกอบกิจการพิจารณารับเข้าทำงาน หรือกรณีเป็นผู้ที่ทำงานอยู่แล้ว หากมีการคัดเลือกเลื่อนระดับ ทักษะนี้ก็อาจถูกนำมาเป็นข้อกำหนดในการเลื่อนระดับ หรือกรณีมีการคัดคนออก พนักงานที่ขาดทักษะในด้านนี้หรือพนักงานที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะเป็นอันดับต้น ๆ ในการถูกเลิกจ้าง เป็นต้น กระทรวงแรงงานเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและการเตรียมพร้อมให้แก่แรงงานรู้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่มาโดยตลอด ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่พนักงานในสถานประกอบกิจการในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีและทักษะดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้หน่วยฝึกที่ตั้งอยู่ในแต่ละจังหวัดจัดอบรมให้ความรู้แก่แรงงานในพื้นที่ และส่งเสริมการฝึกอบรมด้วยมาตรการจูงใจด้านการลดหย่อนภาษีให้แก่สถานประกอบกิจการที่จัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานของตนเอง เพื่อร่วมกันเพิ่มศักยภาพให้แก่แรงงานของประเทศให้มีทักษะความรู้ที่สูงขึ้น ยังเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเสริมว่า กลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานอยู่ในสถานประกอบกิจการ ได้ดำเนินการพัฒนาทักษะมีเป้าหมายดำเนินการในปี 2566 รวม 15,200 คน ประกอบด้วย โครงการยกระดับเพื่อเพิ่มศักยภาพฝีมือและสมรรถนะแรงงานรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ในปี 2566 มีเป้าหมายดำเนินการ 8,000 คน ดำเนินการแล้ว 6,739 คน ตัวอย่างหลักสูตร เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยการผลิต การเขียนแบบวิศวกรรมเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์สำหรับระบบอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์ PLC ช่างควบคุม CNC เป็นต้น ซึ่งทักษะเหล่านี้มีความจำเป็นเฉพาะด้านที่ผู้ปฏิบัติงานต้องเรียนรู้ ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่นับวันเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลด้วย เป้าหมายในปี 2566 จำนวน 1,200 คน ดำเนินการแล้ว 892 คน อีกโครงการที่กรมดำเนินการรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีคือโครงการส่งเสริมสมรรถนะแรงงานด้านเทคโนโลยีรองรับการทำงานในศตวรรษที่ 21 เป้าหมายอีก 6,080 คน ดำเนินการแล้ว 4,794 คน หลักสูตรที่มีการฝึก เช่น การใช้โปรแกรม MITSUBIHIHIPLC&GxWork3 การพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวในงานแอปพลิเคชันประมวลผล การเขียนโปรแกรมสำหรับงานประมวลผลภาพและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น
สำหรับแรงงานนอกระบบและแรงงานทั่วไป กรมได้ร่วมกับ กสทช. ในการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานทั่วประเทศ มีเป้าหมายดำเนินการปีละ 5,000 คน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่แรงงานในพื้นที่ห่างไกลให้มีทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้น หรือใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการประกอบอาชีพได้ หลักสูตรที่ใช้ในการฝึก อาทิ การขายสินค้าออนไลน์ ระยะเวลาการฝึก 18 ชั่วโมง หลายจังหวัดประกาศรับสมัคร ผู้สนใจเข้าฝึกอบรม เช่น สพร.20 เชียงราย มีกำหนดจัดฝึกอบรมหลักสูตร การติดตั้งกล้องวงจรปิดด้วยเครือข่ายไฟเบอร์ออปติก ระหว่างวันที่ 17 ,18,24,25 มิถุนายน 2566 สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ มีกำหนดฝึกอบรมหลักสูตร การประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในเครื่องปรับอากาศภายในบ้าน ระหว่างวันที่ 17 - 21 มิถุนายน 2566 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 30 ปราจีนบุรี มีกำหนดเปิดฝึกอบรมหลักสูตรการใช้โปรแกรม Microsoft เอ็กซ์เซลในการบริหารสินค้าคงคลังอบรมระหว่างวันที่ 8 - 9 และ 15 - 16 มิถุนายน 2566 เป็นต้น
“การพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานทุกโครงการ มีหน่วยฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศสามารถให้บริการแก่แรงงานและประชาชนทั่วไป ที่สนใจเข้าฝึกอบรม สามารถติดต่อสมัครฝึกอบรมได้โดยตรงที่สถาบันหรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานในจังหวัดที่ท่านอยู่ใกล้ หรือสมัครฝึกอบรมผ่านเว็บไซต์ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ www.dsd.go.th สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” นาวสาวบุปผากล่าวในท้ายสุด
08 พฤษภาคม 2566
ผู้ชม 254 ครั้ง