‘ลดทอนการเกิดกลิ่นลงได้เมื่อผ้าเปื้อนอุจจาระ เปิดก้นถุงทิ้งอุจจาระทิ้งได้ โดยถุงลักษณะนี้ยังไม่มีในท้องตลาด และสามารถถอดซักได้ไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุนีย์ หทัยวลีวงศ์ นักวิจัยและอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เจ้าของผลงานถุงคลุมอุปกรณ์รองรับของเสียจากทวารเทียมทางหน้าท้อง (The colostomy bag covers) บอกถึงคุณสมบัติของผลงาน โดย ผศ.สุนีย์ เผยว่า จากข้อมูลสถิติทางการแพทย์ของไทยในปัจจุบันพบว่า มะเร็งลำไส้และทวารหนักกลายเป็นโรคยอดฮิตติดอันดับ 1 ใน 3 ของคนไทย พบว่าผู้ป่วยที่เป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่ ลำไส้ทะลุหรือมีการติดเชื้อ มีความจำเป็นที่ต้องเอาลำไส้มาเปิดที่หน้าท้อง เพื่อระบายอุจจาระออกบริเวณช่องเปิดของลำไส้ใหญ่แทนการขับถ่ายปกติหรือที่เรียกว่าทวารเทียม ผู้ป่วยมีถุงขับถ่ายทางหน้าท้องเป็นที่รองรับของเสียลักษณะโปร่งใส ทำให้เห็นของเสียภายในและมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เมื่อถุงรองรับอุจจาระเต็มจะเกิดแก๊สทำให้ถุงพองลม ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องเปิดก้นถุงรองรับอุจจาระเพื่อถ่ายของเสียภายในถุงออก ส่งผลให้ผู้ที่มีทวารเทียมส่วนใหญ่เกิดความไม่มั่นใจที่จะใช้ชีวิตตามปกติ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้วิจัยจึงมีแนวคิดนำนวัตกรรมการต้านทานต่อแบคทีเรียและคุณสมบัติการสะท้อนน้ำในผ้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกับการออกแบบถุงคลุมอุปกรณ์รองรับของเสียจากทวารเทียมเพื่อให้ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ถุงขับถ่ายทางหน้าท้องสามารถใช้งานได้ดียิ่งขึ้นและต่อยอดไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ ถุงดังกล่าว ‘ออกแบบและผลิตจากผ้าที่มีคุณสมบัติต้านทานแบคทีเรียและการสะท้อนน้ำ ลดทอนการเกิดกลิ่นลงได้เมื่อผ้าเปื้อนอุจจาระ สามารถถอดซักได้ไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง ที่สำคัญอำนวยความสะดวกผู้ใช้ทวารเทียมเปิดก้นถุงทิ้งอุจจาระทิ้งได้ โดยถุงลักษณะนี้ยังไม่มีในท้องตลาด
ปัจจุบันถุงคลุมอุปกรณ์รองรับของเสียจากทวารเทียมทางหน้าท้อง อยู่ในระหว่างการทดลองจัดจำหน่ายโดยบริษัทเครฟเวอร์อินเทค จำกัด ผู้สนใจถุงคลุมอุปกรณ์รองรับของเสียจากทวารเทียมทางหน้าท้อง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทเครฟเวอร์อินเทค จำกัด โทร.034-963189 และภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี โทร.02-5493450
16 สิงหาคม 2566
ผู้ชม 5261 ครั้ง