วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุมอาคารฝึกอบรม 3 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มอบหมายให้ นางจิรวรรณ สุตสุนทร ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีด้านการติดตั้งอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมทั้งลงนามความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ระหว่าง กระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ นายเดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และมีนางกิติมา ศิริประธาน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี และนายเจย์ เฉิน ประธานกรรมการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามเป็นสักขีพยาน
นางจิรวรรณ สุตสุนทร ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยหลังจากเปิดศูนย์ฝึกอบรมและการลงนามว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ มีเป้าหมายและกลไกในการบูรณาการยกระดับทักษะด้านดิจิทัลควบคู่กับการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการประกอบอาชีพให้แก่แรงงานเพื่อก้าวทันโลกยุคการแข่งขันที่จำเป็นต้องปรับตัว โดยการร่วมกันจัดฝึกอบรมหลักสูตรการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา จำนวน 6 รุ่น เป้าหมายดำเนินการ 150 คนต่อปี โดยใช้ศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีฯ แห่งนี้เป็นแหล่งที่ให้ความรู้และยกระดับทักษะแก่กำลังแรงงานให้มีมาตรฐาน สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และรองรับต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่เน้นย้ำการ Upskill แรงงานเทียบเท่ามาตรฐานสากล ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีด้านการติดตั้งอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ มูลค่า 642,000 บาท รวมถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่นำมาพัฒนากำลังแรงงาน ให้มีความรู้ และความสามารถมากยิ่งขึ้น และขอยินดีกับผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาด้วย
ด้านนายเดวิด หลี่ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัท หัวเว่ย ดำเนินธุรกิจครอบคลุมทั้งระบบ ICT คลาวน์ รวมถึงโทรศัพท์มือถือ มีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อมที่จะสนับสนุนทั้งวัสดุ อุปกรณ์ สำหรับใช้ในการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยกับกรมที่ผ่านมาได้ร่วมกันจัดฝึกอบรมในหลักสูตรด้านดิจิทัล ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นของการฝึกอบรมเพิ่มทักษะให้แก่แรงงานการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เพื่อทดแทนการใช้ทรัพยากรพลังงานอย่างสิ้นเปลือง ที่ผ่านมาหัวเว่ยได้ตั้งส่วนธุรกิจพลังงานดิจิทัลขึ้นในปี 2565 เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้งานระบบโซลาร์เซลล์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนโครงการในประเทศจำนวน 30,000 โครงการ และสร้างทักษะให้บุคลากรไทยจำนวน 10,000 คน ในระยะเวลาสามปีอย่างต่อเนื่อง โดยหัวเว่ยประสบความสำเร็จในการส่งมอบโซลูชันพลังงาน FusionSolar ร่วมกับธนาคารในประเทศเพื่อเปิดตัวสินเชื่อเทคโนโลยีสีเขียว และจับมือกับห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ในการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ บนหลังคาห้างสรรพสินค้า ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 4,000 ตัน นับตั้งแต่การติดตั้งในปี 2564 เป็นต้นมา ทั้งนี้ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีการเปิดศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีด้านการติดตั้งอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเป็นทางการ ท้ายสุดนี้ ผู้ผ่านการฝึกอบรมที่ได้รับวุฒิบัตร และผ่านเกณฑ์การทดสอบก็จะได้ใบรับรองจากหัวเว่ย ถือเป็นการรับรองมาตรฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีที่สามารถนำไปประกอบอาชีพในสาขาดังกล่าวได้อย่างภาคภูมิใจ
19 ธันวาคม 2566
ผู้ชม 129 ครั้ง