กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งพัฒนา Soft Skill ให้แก่แรงงานปีละกว่า 2 ล้านคน รองรับความต้องการผู้ประกอบการ ผุดโครงการปี 68 รับเทคโนโลยีสมัยใหม่ Ai และดิจิทัล พร้อมขับเคลื่อนนโยบายรมว.พิพัฒน์ ดัน Soft Power
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ เกี่ยวกับความต้องการแรงงานและทักษะต่าง ๆ ที่นายจ้างต้องการ ซึ่งพบว่าทักษะในด้าน Soft Skill เป็นที่ต้องการของนายจ้าง เนื่องจากในทุกตำแหน่งงานทักษะด้าน Soft Skill เป็นทักษะที่จำเป็นและมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพในการทำงาน โดยในการพัฒนาทักษะแรงงานในด้านดังกล่าว กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้เร่งดำเนินการตามแนวนโยบายของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้วยการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากรของตนเอง ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ปีละกว่า 2 ล้านคน นอกจากนี้ กรมยังมอบหมายให้หน่วยงานที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคดำเนินการพัฒนาทักษะด้าน Soft Skill ให้แก่แรงงานในพื้นที่ด้วย มีหลักสูตรการฝึก Soft Skill ให้เลือกกกว่า 100 หลักสูตรและที่กรมดำเนินการฝึกอบรม อาทิ หลักสูตรกลยุทธ์การสื่อสารและการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ ระบบสมรรถนะในการทำงาน การตลาดเชิงรุก การวางแผนธุรกิจ การพัฒนาทักษะพนักงานบริการสู่ความเป็นเลิศ รวมถึงการอบรมด้านภาษาต่างประเทศให้แก่แรงงานที่ทำงานแต่ละสาขาอาชีพ ด้วย เช่น ภาษาอังกฤษสำหรับพนักงานนวด-สปา พนักงานโรงแรม/ที่พัก ภาษาอังกฤษสำหรับพนักงานบริการในสนามกอล์ฟ ภาษาจีนเพื่อการสื่อสาร เป็นต้น
นางสาวบุปผา กล่าวต่อว่า รูปแบบการอบรมให้ความรู้มีทั้งจัดอบรมในห้องเรียน และการอบรมออนไลน์ด้วยสื่อวิดีโอที่บรรจุไว้บนเว็บไซต์ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา เปิดกว้างให้แก่แรงงานทุกเพศ ทุกวัย ให้สามารถเข้าเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างไม่จำกัด ผลงานที่ผ่านมา ในการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมพัฒนาทักษะแรงงานที่เป็นพนักงานของตนเอง ในปี 66 ดำเนินการฝึกทั้งสิ้น 3.4 ล้านคน (รวมทักษะด้านเฉพาะ) ปี 67 ดำเนินการฝึกไปแล้วในช่วง 5 เดือนจำนวนกว่า 2 ล้านคน และในปี 2568 กรมเตรียมแผนรองรับการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานทั้งด้าน Soft Skill และทักษะเฉพาะที่สอดรับกับเทคโนโลยีในอนาคต โดยวางเป้าหมายดำเนินการเอง จำนวน 121,000 คน ประกอบด้วย โครงการพัฒนาทักษะแรงงานรองรับนโยบาย Soft Power จำนวน 30,000 คน หลักสูตรการฝึก อาทิ หลักสูตรการนวดตอกเส้นเพื่อสุขภาพ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีใหม่ เทคนิคการทำผลิตภัณฑ์จากผ้าพื้นเมือง โครงการยกระดับเพื่อเพิ่มศักยภาพฝีมือแรงงานและสมรรถนะแรงงานรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จำนวน 58,000 คน อาทิ ช่างติดตั้งอุปกรณ์เพื่อใช้เชื้อเพลิงก๊าซปิโตรเลียมเหลว LPG ช่างซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้า ช่างควบคุมด้วยระบบโปรแกรมเมเบิ้ลลอจิกคอนโทรลเลอร์ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ จำนวน 30,000 คน อาทิ หลักสูตร เทคนิคการสร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อการท่องเที่ยว การทำธุรกิจผ่านเครือข่ายออนไลน์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ AI Generative and Data for Marketing และโครงการยกระดับและพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัล ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ จำนวน 3,000 คน อาทิ หลักสูตรผู้ดูแลระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Power BI นักออกแบบกราฟิกและมัลติมีเดีย
“กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีความพร้อมในการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานในทุก ๆ ด้าน ทั้ง Soft Skill ที่ทุกสาขาอาชีพต้องมีทักษะเหล่านี้ รวมถึงทักษะเฉพาะด้าน ที่เป็นทักษะด้านช่างฝีมือ ซึ่งมีหน่วยฝึกตั้งอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ดังนั้น สถานประกอบกิจการที่ต้องการพัฒนาทักษะให้แก่พนักงานของตนเอง สามารถประสานความร่วมมือหรือขอคำแนะนำต่าง ๆ ได้ หรือแรงงานที่สนใจฝึกอบรม สามารถเข้าไปฝึกอบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” อธิบดีบุปผากล่าวในท้ายสุด
12 มีนาคม 2567
ผู้ชม 91 ครั้ง