อธิบดีกรมการจัดหางาน แนะนำแรงงานสัญชาติลาวที่ยื่นขอใบอนุญาตทำงาน ตามมติครม. เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ทำเอกสารประจำตัว ฯ ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ย้ำสปป.ลาว พร้อมเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 67 เป็นต้นไป
นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า มติครม.เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 กำหนดให้แรงงานข้ามชาติ ที่ยื่นคำขออนุญาตทำงาน (แบบ บต. 50) ผ่านเว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th และชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานแล้ว สามารถทำงานได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 โดยต้องดำเนินการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล จัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเพื่อตีวีซ่า และจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ซึ่งล่าสุดทางการลาวได้แจ้งว่ามีความพร้อมในการออกเอกสารประจำตัวของแรงงานสัญชาติลาว โดยเปิดช่องทางพิเศษ เพื่อความรวดเร็วในการจัดทำและออกเอกสารประจำตัว ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป และขอให้ทางการไทยประชาสัมพันธ์แนวทางดำเนินการให้นายจ้าง สถานประกอบการ
และแรงงานสัญชาติลาวทราบ
สำหรับแรงงานสัญชาติลาว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ต้องการขอเอกสารประจำตัวมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้
1.การดำเนินการ ณ ประเทศไทย (ดำเนินการได้ทันที)แรงงานลาวยื่นขอรับเอกสารเดินทางชั่วคราว (Laissez - Passer) ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้า (walk-in) ณ สถานเอกอัครราชทูต สปป. ลาว ประจำประเทศไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ ประจำจังหวัดขอนแก่น เพื่อใช้เป็นเอกสารในการเดินทางออกจากประเทศไทย ทั้งนี้ แรงงานต้องจัดเตรียมเอกสารประจำตัว เช่น ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น
2. การดำเนินการ ณ สปป. ลาว แรงงานต้องแแจ้งความประสงค์กลับมาทำงานในประเทศไทยกับบริษัทจัดหางานลาว เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อ (Name List) เสนอให้กระทรวงแรงงาน ฯ สปป.ลาว อนุมัติ จากนั้นยื่นขอหนังสือเดินทาง (Passport) โดยเตรียมเอกสาร ได้แก่ ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน บัญชีรายชื่อ (Name List) ที่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงแรงงาน ฯ สปป. ลาว และเอกสารการอนุญาตทำงานจากทางการไทย ซึ่งหากเอกสารครบถ้วนจะมีระยะเวลาดำเนินการ 1 -10 วัน กรณีต้องการเอกสารเร่งด่วน ภายใน 1 วัน มีค่าธรรมเนียม 40 ดอลลาร์สหรัฐ + 1,000,000 กีบ ภายใน 3 วัน 40 ดอลลาร์สหรัฐ + 500,000 กีบ ภายใน 5 วัน 40 ดอลลาร์สหรัฐ + 300,000 กีบ ภายใน 10 วัน 40 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ แรงงานต้องเดินทางผ่านจุดผ่านแดนถาวรจุดเดียวกับที่เดินทางออก (ด่าน ตม. ของแต่ละประเทศ) โดยแสดงหลักฐานเอกสาร Laissez-Passer ฉบับเดิมที่ได้รับการประทับตรา พร้อมหนังสือเดินทางเล่มใหม่ เพื่อรับการประทับตราอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 โดยเน้นย้ำว่าการเดินทาง เข้ามาในประเทศไทยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ต้องไม่เกินวันที่ 31 ตุลาคม 2567
“ขอให้นายจ้าง สถานประกอบการ และแรงงานข้ามชาติให้ความสำคัญศึกษาแนวทางการดำเนินการมติครม.เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เพื่อดำเนินการทุกขั้นตอนครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด และสามารถอยู่ในประเทศไทยเพื่อทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน” นายสมชาย กล่าว
28 มีนาคม 2567
ผู้ชม 97 ครั้ง