เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้เกียรติเป็นประธานการจัดงานประชุมสร้างการรับรู้ และรับฟังข้อคิดเห็นงานประกันสังคม “SSO Sustainable for All เพราะกองทุนประกันสังคมเป็นของพวกเราทุกคน” โดยมี นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนภาคการเมือง ก้าวไกล เพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ฯลฯ ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ และสื่อมวลชน ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ผมได้เคยชี้แจงในสภา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ว่า “ตัวผมเองไม่ใช่พระเอก และตัวผมก็ไม่ยอมรับที่จะเป็นผู้ร้าย ว่าเป็นคนที่ทำให้กองทุนประกันสังคมล้มละลาย” จึงเป็นที่มาในการดำเนินการขับเคลื่อนภายใต้งาน “SSO Sustainable for All เพราะกองทุนประกันสังคมเป็นของพวกเราทุกคน” ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับงานประกันสังคม รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งมีจำนวนประมาณ 150 คน ร่วมระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคการเมือง สภาลูกจ้างนายจ้าง และนักวิชาการ ในหัวข้อหลักการบริหารกองทุนประกันสังคม การเพิ่มการเข้าถึงและประสิทธิภาพบริการทางการแพทย์ระบบกองทุนชราภาพ การสร้างเสถียรภาพกองทุนในมิติของผลตอบแทนการลงทุน การยกระดับระบบประกันสังคมปัจจุบันเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม เพื่อนายจ้าง ผู้ประกันตน และในที่ประชุมฯ ยังได้มีการนำเสนอตัวอย่างการประกันสังคมของนานาประเทศอีกด้วย เพื่อสร้างความยั่งยืนของกองทุนประกันสังคม ที่ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อแรงงานเพียงเท่านั้น แต่จะส่งผลและสะท้อนถึงโครงสร้างและสภาพสังคม รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยอีกด้วย
ในที่ประชุมฯ นายพิพัฒน์ ได้ตอบประเด็นเรื่อง “กองทุนประกันสังคมจะล้มละลายในอีก 30 ปีนี้หรือไม่” นั้น ว่า “เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงหากเราไม่ทำอะไร จากผลการประเมินค่าทางคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยสำนักงานประกันสังคมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ระบุว่าผู้ประกันตนจะเกษียณอายุเพิ่มขึ้น จะมีผู้รับบำนาญสะสมเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายพิพัฒน์ ชี้แจงต่อไปว่ากระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมได้ศึกษาตัวอย่างแนวทางการปฏิรูปกองทุนประกันสังคมให้มีความยั่งยืนไว้ในหลายรูปแบบ เช่น การปรับเพดานค่าจ้าง เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน เพิ่มทั้งรายรับและรายจ่ายกองทุน การเพิ่มผู้ประกันตนต่างชาติ เพิ่มจำนวนผู้ประกันตนระยะสั้น เป็นการขยายความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานในประเทศมากยิ่งขึ้น การปรับเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน การปรับเพิ่มอายุเกษียณอย่างค่อยเป็นค่อยไป จาก 55 ปีเป็น 65 ปี ในระยะเวลา 50 ปี จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเนื่องจากระยะจ่ายบำนาญสั้นลง การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนชราภาพ สำหรับแนวทางที่กล่าวมาทั้งหมด จำเป็นจะต้องได้รับความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายช่วยกำหนดแนวทางร่วมกัน และจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานเพื่อประชาชน เพราะเราทุกคนล้วนเป็นกำลังสำคัญในการออกแบบประกันสังคมที่ยั่งยืนร่วมกัน
ผมนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความเชื่อมั่นว่าจะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่แรงงานทุกคน เพื่อเสริมสร้างระบบประกันสังคมที่มีความยั่งยืนในรูปแบบที่ดียิ่งขึ้นสำหรับประเทศไทยของเราต่อไป
31 พฤษภาคม 2567
ผู้ชม 478 ครั้ง