นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายผลิตบัณฑิตแรงงานเป็นตัวแทนของกระทรวงแรงงานภาคประชาชนให้ครบ 878 อำเภอทั่วประเทศไทย ภายใน 2 ปี เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงกับชาวบ้าน ให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และให้บริการด้านแรงงาน รวมทั้งส่งเสริมอาชีพและการจ้างงานร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาได้นำร่องจ้างงานบัณฑิตที่จบปริญญาตรีเข้ามาเป็นบัณฑิตอาสาแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ได้แก่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา (อ.จะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย) จำนวน 380 คน และในปีนี้ 2567 นี้เพิ่มขึ้นอีก 113 คนทั่วประเทศ โดยมีค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท และเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ด้วย
โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเน้นย้ำว่าขอให้บัณฑิตแรงงานศึกษาข้อมูลและประสานงานกับหน่วยงานของกระทรวงแรงงานในพื้นที่และหน่วยงานอื่น ๆ รวมถึงอาสาสมัครแรงงานและ 5 เสือแรงงาน เพื่อช่วยอธิบายข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เช่น โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งกลุ่มอาชีพอิสระ กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 เป็นต้น
“บัณฑิตแรงงานทำงาน 4 ระดับ คือ 1. เป็นคนในพื้นที่ เข้าใจภาษาและบริบทสภาพแวดล้อม นำข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชน 2. เป็นผู้ประสานนำบริการสู่ชุมชน เช่น จัดตั้งกลุ่มอาชีพ แนะแนวอาชีพ ให้ความรู้เรื่องการไปทำงานต่างประเทศ ประสานการหางานทำ ช่วยดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการ 3. เป็นผู้ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จตามที่ประชาชนต้องการ โดยจัดเวทีประชาคม นำปัญหามาวิเคราะห์และขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ 4. เป็นผู้ปฏิบัติงานตามแผนของกระทรวงแรงงานในระดับพื้นที่ ติดตาม และรายงานผลต่อกระทรวง สำหรับการผลิตบัณฑิตแรงงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นช่วยตอบโจทย์การส่งเสริมการมีงานทำ รวมทั้งแก้ไขปัญหาเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาและการจ้างงาน ปัญหาการค้ามนุษย์ และพัฒนาศักยภาพของกลุ่มแรงงานอิสระ ช่วยสร้างสันติสุขในพื้นที่อย่างยั่งยืน” นายภูมิพัฒน์ กล่าว
05 สิงหาคม 2567
ผู้ชม 55 ครั้ง