นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ตรวจสอบกรณีลูกจ้างบริษัทแพนการ์ดและอินโนเวชั่น อยุธยา ร้องขอให้ช่วยหลือเหตุนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง ด้าน กสร. ยืนยันช่วยเหลือลูกจ้างอย่างเต็มที่ เผยมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตามกฎหมาย พร้อมกำชับให้พนักงานตรวจแรงงานติดตามใกล้ชิด
นายพิพัฒน์ เปิดเผยถึงกรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวประเด็น สส.พระนครศรีอยุธยา ร้องขอให้ กสร. ช่วยเหลือลูกจ้างบริษัทแพนการ์ดและบริษัทอินโนเวชั่น ไม่ได้รับค่าจ้างว่า ทันทีที่ทราบข่าว ผมได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที ซึ่งจากรายงานพบว่าทั้ง 2 บริษัทมีการค้างจ่ายค่าจ้างลูกจ้างจริง โดยกรณีบริษัท รักษาความปลอดภัย แพน การ์ด เซอร์วิส จำกัด นายจ้างได้เข้ามาพบพนักงานตรวจแรงงาน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 67 โดยยอมรับว่าค้างจ่ายค่าจ้างลูกจ้าง จำนวน 18 คน เป็นเงินรวม 283,796 บาท เนื่องจากบริษัทฯ ขาดสภาพคล่องทางการเงินแต่ยังไม่ได้เลิกจ้างลูกจ้างแต่อย่างใดและยังมอบหมายให้ลูกจ้างทุกคนปฏิบัติตามหน้าที่ตามปกติ พนักงานตรวจแรงงานจึงได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ซึ่งนายจ้างได้ขอขยายระยะเวลาโดยจะครบกำหนดการวางเงินในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 และสำหรับกรณีบริษัท อินโนเวชั่นฟุตแวร์ จำกัด พบว่ามีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินมาตั้งแต่ต้นปี 2567 ซึ่งบริษัทฯ ยังค้างจ่ายค่าจ้างเดือนกรกฎาคม 2567 รวมเป็นเงินกว่า 7.9 ล้านบาท พนักงานตรวจแรงงานจึงได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมาให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่ลูกจ้างทุกคน โดยให้นายจ้างปฏิบัติภายใน 15 วันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำสั่ง
นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กสร. ได้ดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างทั้งสองบริษัทภายใต้กรอบของกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง มิได้ทอดทิ้งลูกจ้างแต่อย่างใด โดยได้ดำเนินการรับคำร้องจากลูกจ้างและมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ซึ่งขณะนี้กรณีของทั้งสองบริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนกระบวนการตามกฎหมาย ตนได้กำชับพนักงานตรวจแรงงาน จ.พระนครศรีอยุธยา ติดตามความคืบหน้าทั้ง 2 กรณีอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายภายในเวลาที่กำหนด และหากพบว่านายจ้างไม่ได้จ่ายเงินตามกำหนดให้ดำเนินคดีกับนายจ้างตามกรอบของกฎหมายต่อไป
14 สิงหาคม 2567
ผู้ชม 59 ครั้ง