เมื่อเร็ว ๆ นี้ สื่อมวลชนสายการศึกษา ลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจกรรมที่แสดงถึงศักยภาพของชาวอาชีวศึกษา ซี่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมี ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษา นำทีมเยี่ยมชม
ดร.นิรุตต์ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจกรรม ที่แสดงถึงศักยภาพของชาวอาชีวศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) อาชีวะมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปที่จบการศึกษาแล้วมีงานทำ สอศ. ต้องตอบโจทย์ให้งานอาชีวศึกษาเข้าไปอยู่ในหัวใจของคนไทย ให้ทุกคนรับรู้ว่าการศึกษาสายอาชีวะมีดีอย่างไร สามารถยกระดับการอาชีวศึกษาให้เป็นโซ่ข้อกลางในการเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และการได้นำสื่อมวลชนมาลงพื้นที่อาชีวศึกษาจังหวัดนครราชสีมา ได้นำมาเป็นโมเดลของจังหวัดนครราชสีมาต่อไป เริ่มต้นที่วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา และเทคนิคนครโคราช ซึ่งมีความโดดเด่นในการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชาวิชาที่น่าสนใจอย่างมาก เป็นแบบอย่างที่สามารถโชว์ศักยภาพของชาวอาชีวศึกษา ซึ่ งมีสถานศึกษาในสังกัดมากมายทั้งของรัฐและเอกชน รวมทั้งสิ้น 877 แห่ง23 สถาบัน
ด้านนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า อาชีวศึกษานครราชสีมามีการพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล การส่งเสริมให้ครูผู้สอนได้พัฒนาทักษะและประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งวิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมาได้เป็นศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center Of Vocational Manpower Networking Management : CVM)ที่มุ่งเน้นการผลิตบุคลากรที่มีความรู้และทักษะในด้านเทคโนโลยีแฟชั่นและสิ่งทอ โดยผู้เรียนจะได้เรียนรู้หลักการและกระบวนการทำงานด้านการออกแบบแฟชั่น แพทเทิร์นเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย สามารถประยุกต์ใช้ความรู้และเทคโนโลยีด้านการออกแบบแฟชั่น แพทเทิร์นเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย รวมทั้งสามารถปฏิบัติงาน สร้างสรรค์และวิเคราะห์ปัญหา ด้านการออกแบบแฟชั่น แพทเทิร์นเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายได้ โดยมีรายวิชาที่น่าสนใจ เช่น ความรู้เรื่องสิ่งทอ การออกแบบเสื้อผ้า เทคนิคการตัดเย็บ ตกแต่ง และการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอ การออกแบบการจัดแสดงแฟชั่น คอมพิวเตอร์เพื่องานออกแบบแฟชั่น เป็นต้น ให้สมกับการพัฒนาการศึกษา“ เรียนดี มีความสุข” เน้นการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยนักเรียนนักศึกษาที่จบออกไปแล้วจะต้องมีงานทำ
ปัจจุบันมีนักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษาในสาขาวิชานี้ทั่วประเทศรวมกว่า 1,400 คน ซึ่งนับว่าเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยในอนาคต ผู้สำเร็จการศึกษาจากสาขานี้สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์หรือนักออกแบบแฟชั่น(Fashion designer) นักวิเคราะห์เทรนด์แฟชั่น นักวาดภาพประกอบแฟชั่น นักออกแบบลายผ้า สไตลิสต์ ช่างแพทเทิร์น นายแบบ นางแบบ แฟชั่นมาร์เกตติ้ง Make-up artist หรือแม้แต่การเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองนอกจากความหลากหลายของอาชีพแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดให้หลายคนสนใจวงการแฟชั่นคือโอกาสในการสร้างรายได้ที่น่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่แฟชั่นกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์และมีการแข่งขันสูงทำให้ผู้ที่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์สามารถสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาลอย่างแฟชั่นดีไซเนอร์ นักออกแบบแฟชั่นชื่อดังระดับโลกหลายคนมีรายได้สูงถึงหลักล้านดอลลาร์ต่อปี นอกจากค่าตอบแทนจากการออกแบบคอลเลกชั่นแล้ว ยังมีรายได้จากการร่วมงานกับแบรนด์ดัง การออกแบบชุดให้กับดารา หรือการเปิดแบรนด์ของตัวเอง สไตลิสต์ชื่อดังก็มีรายได้สูงเช่นกัน
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสาขาเทคโนโลยีแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย มีสถานศึกษาอาชีวศึกษาเปิดสอนสาขานี้ ถึง 46 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีทั้งหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาเทคโนโลยีแฟชั่นและสิ่งทอ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)
นางจิตโสมนัส ชัยวงษ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา กล่าวว่า วิทยาลัยส่งเสริมผู้เรียนให้เรียนรู้แบบActive Learning ตามนโยบายเรียนดีมีความสุขของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายยศพลเวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมเรียนรู้และส่งเสริมการยกระดับทักษะฝีมือของเด็กโดยผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ ซึ่งทำให้ทุกคนมีความสุขในการเรียนโดยมีครูเป็นผู้ให้การสนับสนุนอำนวยการเรียนรู้อย่างมีความสุข โดยเฉพาะในสาขาที่เรามีความเป็นเลิศอย่างเช่น สาขาแฟชั่น สาขาอาหาร ที่ผลงานของเด็ก ๆ จะมีรางวัลกันทุกปี จนทุกวันนี้เราเป็นที่หนึ่งในระดับจังหวัด
ผอ.จิตโสมนัส กล่าวด้วยว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมามีความโดดเด่นในหลายสาขาโดยทางด้านแฟชั่นเราเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว และยังมีสาขาที่ได้รับการยอมรับอย่างมากก็คืออาหารและโภชนาการ เพราะได้รับโอกาสให้ทำอาหารพื้นถิ่น ได้เป็นกรรมการในการประกวดทุกเวที ภายใต้แบรนด์ครัวอาชีวะโคราชเป็นที่ทราบดีว่ามีคุณภาพและมาตรฐาน รสชาติอร่อย รักษามาตรฐานความเป็นไทย โดยล่าสุดได้รับรางวัล 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” นำเมนูน้ำพริกหมู (โคราช) ของครัวอาชีวะโคราช ได้รับการประกาศเป็นอาหารถิ่นประจำจังหวัดนครราชสีมา และได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจากประชาชน ในโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food รสชาติที่หายไป The Lost Taste) ประจำปี 2567 ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีครัวเบเกอรี่สินค้าที่เด็ก ๆ ได้ร่วมกันผลิตและจำหน่ายที่ศูนย์ฝึกภายในวิทยาลัยที่เปิดให้บริการบุคคลภายนอกด้วย นอกจากนี้ยังมีสาขาอื่นที่เป็นสาขาที่มีชื่อเสียงของวิทยาลัย คือ สาขาการโรงแรม การบัญชี ศิลปกรรม และธุรกิจสถานพยาบาล เป็นต้นทุกสาขาของวิทยาลัยจะมีทำงานร่วมกันเพื่อให้ผลงานออกมาดี ทั้งครูและเด็กได้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะฉะนั้นเด็กทุกคนที่เข้ามาเรียนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา นอกจากจะได้รับความรู้ในแต่ละสาขาแล้วยังได้ทักษะอื่นๆจากการร่วมทำกิจกรรมอีกมากมายเป็นการเรียนอย่างมีความสุขแน่นอน
ด้านน.ส.อมิตา ทิมอุดม นักศึกษา ปวส. 2 เปิดใจว่า ผลงานที่ส่งประกวดได้แรงบันดาลใจมาจากโคนม ซึ่งเกิดจากความสงสัย ว่า นมที่เราดื่มกันมาตั้งแต่เด็กมาจากไหนจึงได้ไปค้นคว้าและทราบว่ามาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้มาทำชุดพอส่งประกวดโครงการเยาวชนสร้างสรรค์ต่อยอดแฟชั่นหัตถศิลป์ไทย ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศมาเลย ส่วนที่เลือกมาเรียนที่นี่ เพราะอยากเป็นดีไซเนอร์และไปสานต่อกิจการของครอบครัว
28 กันยายน 2567
ผู้ชม 121 ครั้ง