กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดใหญ่แข่งขันทักษะฝีมือคนพิการ Abilympics Thailand 2025 ระหว่างวันที่ 22-23 มี.ค.68 เปิดรับสมัครทั่วประเทศ โชว์สกิล 12 สาขาอาชีพ
นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ จัดงานแข่งขันฝีมือคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 10 ภายใต้ชื่องาน Abilympics Thailand 2025 มีสาขาที่จัดการแข่งขันจำนวน 12 สาขา ประกอบด้วย กลุ่มที่หนึ่ง กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีการสื่อสาร จำนวน 5 สาขา ได้แก่ 1. สาขาการออกแบบเว็บเพจ 2. สาขาการออกแบบสิ่งพิมพ์ 3. สาขาการถ่ายภาพในสตูดิโอ 4. สาขาการออกแบบโปสเตอร์ 5. สาขาการพิมพ์เอกสารด้วยโปรแกรมไมโครซอฟต์เวิร์ด กลุ่มที่สอง กลุ่มสาขาอาชีพอุตสาหกรรม จำนวน 1 สาขา คือ 1. สาขาการออกแบบเพื่องานอุตสาหกรรมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ CAD กลุ่มที่สาม กลุ่มสาขาอาชีพหัตถกรรม จำนวน 5 สาขา คือ1. สาขาการสานตะกร้า 2. สาขาการถักโครเชต์ 3. สาขาการเย็บปักถักร้อย 4. สาขาการถักนิตติ้ง 5. สาขาการวาดภาพระบายสี และกลุ่มที่สี่ กลุ่มสาขาอาชีพบริการ จำนวน 1 สาขา คือ 1. สาขาการตัดเย็บเสื้อผ้าบุรุษ ทั้งนี้ ได้เปิดรับสมัครคนพิการเข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 มกราคม 2568 ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกจังหวัด (สนพ.) หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน โทร 02 643 4988
นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครต้องมีสัญชาติไทย เป็นคนพิการตามประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565 เรื่อง ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2565 และต้องแสดงใบสมัคร บัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาสมุดประจำตัวคนพิการ สำหรับการแข่งขัน กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 มีนาคม 2568 ที่ฮอลล์ 11 - 12 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ซึ่งผู้แข่งขันที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัลเหรียญทอง รางวัลละ 30,000 บาท เหรียญเงิน 15,000 บาท เหรียญทองแดง 10,000 บาท และเหรียญฝีมือยอดเยี่ยม 5,000 บาท
“ในประเทศไทยยังมีคนพิการอีกจำนวนมากที่ต้องการโอกาสการเข้าถึงในการพัฒนาทักษะอาชีพ การแข่งขันนี้จะเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการได้มีการพัฒนาฝีมือทางด้านอาชีพ ยกระดับมาตรฐานฝีมือให้สูงขึ้นเพื่อพัฒนาไปสู่ระดับสากล จนเป็นที่ยอมรับของประชาชนโดยทั่วไป เพื่อให้สังคมได้มองเห็นคุณค่าความสามารถ และให้โอกาสแก่คนพิการในการประกอบอาชีพต่อไป” อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวทิ้งท้าย
10 ธันวาคม 2567
ผู้ชม 44 ครั้ง