มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เผยหลักสูตรศิลปนิพนธ์ สาขาวิชาออกแบบเซรามิกส์ และสาขาวิชาศิลปประยุกต์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งในปีการศึกษา 2560 จะมีนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายที่ศึกษาครบตามหลักสูตร และมีผลงานศิลปนิพนธ์ที่ผ่านการคัดกรองจากคณะกรรมการของสาขาวิชาและภาควิชาฯ เรียบร้อยแล้ว จำนวนประมาณ 60 ผลงาน โดยผลงานของนักศึกษาเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงการนำความรู้และประสบการณ์ทางวิชาชีพจากอาจารย์ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้มาถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ต่างๆไปประยุกต์กับการทำงานศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาของคณะ ทำให้บ่งบอกถึงคุณลักษณะของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ที่ปลูกฝังให้นักศึกษา “เชี่ยวชาญออกแบบ มุ่งสู่สากล”
ภาควิชาเทคโนโลยีศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างศักยภาพของนักศึกษาให้ได้มีโอกาสทำผลงานศิลปนิพนธ์ เพื่อนำเสนอผลงานการออกแบบ และผลงานในลักษณะต่างๆ นำมาเผยแพร่สู่สังคม โดยได้รวบรวมผลงานศิลปนิพนธ์ดังกล่าวไปจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 31 กรกฏาคม - 5 สิงหาคม 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
อาจารย์สุเทพ จันทน คณบดีคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มจพ. กล่าวว่า นับว่าเป็นอีกงานหนึ่งที่ทางคณะฯ นำมาจัดที่หอศิลป์กรุงเทพ ของนักศึกษา 2 สาขาวิชา คือสาขาวิชาออกแบบเซรามิกส์ และสาขาวิชาศิลปประยุกต์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ ถือว่าเป็นผลงานการออกแบบของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ปีสุดท้าย ซึ่ง 2 สาขาวิชาดังกล่าวรวมแล้วจะมีผลงานมากกว่า 60 ชิ้นงาน ถือว่าเป็นผลงานที่แสดงออกถึงความรู้ ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งงานทั้งหมดที่อยู่ในที่แห่งนี้ ในปีนี้ถือว่าเป็นปีที่นักศึกษาทุกคนที่ได้ทำผลงานศิลปนิพนธ์ โดยผลงานส่วนใหญ่แล้วค่อนข้างชัดเจนในเรื่องของการออกแบบนวัตกรรมใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การตอบโจทย์ในเรื่องสิ่งแวดล้อม การใช้วัสดุที่สามารถกลับมาใช้ได้ และในแง่ของสิ่งที่เป็นการบริการในเรื่องของการเรียนรู้ในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับมวลชนเพื่อสังคมและเพื่อชุมชน ถือว่าเป็นผลงานที่ดีทุกชิ้น
ผลงานทั้งหมดก่อนที่จะออกนอกรั้วมหาวิทยาลัย ถือว่าผ่านการคัดกรองจากอาจารย์ที่ปรึกษา และคณะกรรมการ ซึ่งหมายถึงว่า ผลงานทุกชิ้นได้ถูกกลั่นกรองมาอย่างดี พร้อมที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อให้ผู้ที่มาดูงานได้ทราบว่า นักศึกษาที่เรียนใน 2 สาขาวิชาดังกล่าว ทำในเรื่องที่สังคมจับตามอง เราอยากให้ศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาเมื่อออกสู่สังคมสะท้อนให้เห็นว่า นักศึกษาคิดเกี่ยวกับเรื่องอะไร เช่น สาขาเซรามิกส์ เน้นผลงานของผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก เป้าหมายค่อนข้างชัดเจน นอกจากดีไซน์แล้วคุณค่าของความคิด คุณค่าที่สามารถต่อยอดออกไปได้ ในแต่ละสาขาจำนวนผลงาน 60 ชิ้นมีการประกวดเพื่อคัดให้ได้มา ซึ่งผลงานแต่ละผลงานมีจุดเน้นในเรื่องใดบ้าง บางชิ้นเป็นเรื่องของอินโนเวชั่นจริง ๆ เรื่องของนวัตกรรม เรื่องของวัสดุ นวัตกรรมในเรื่องการออกแบบ นวัตกรรมในเรื่องของการต่อยอดในเชิงพาณิชย์
กลุ่มเป้าหมายของผู้ที่มาชมผลงานคือ นักเรียนหรือน้อง ๆ ที่อยากจะเข้าเรียนในคณะสถาปัตย์ 2 สาขาวิชาดังกล่าว อีกกลุ่มหนึ่งคือ นักศึกษาในคณะฯ และสถาบันใกล้เคียงกัน ที่มาดูในเรื่องของแนวความคิด และกลุ่มผู้ประกอบการสำคัญมาก ปัจจุบันเรามีการแข่งขันในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ค่อนข้างเยอะมาก คือ การตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 เหมือนกัน สำหรับผลงานของนักศึกษาปีนี้ ทางคณะฯ มีนโยบายให้นักศึกษาทำโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับไทยแลนด์ 4.0 สามารถเห็นในเรื่องของการพัฒนา วิจัยและสร้างสรรค์ได้ และกลุ่มประชาชนทั่ว ๆ ไป ที่เข้ามาดูได้เห็นทั้งความคิดสร้างสรรค์ ความงามบางชิ้นที่มีความน่าสนใจถึงขนาดติดต่อในเชิงพาณิชย์ได้
คณบดีคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มจพ. กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอเชิญชวนผู้สนใจมาร่วมงานระยะเวลาในการจัดแสดง 5 วัน ฝากน้อง ๆ นักเรียนและผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบผลิตภัณฑ์และเซรามิกส์ อยากให้มาดูงานที่นี่ ซึ่งสถาบันการศึกษา เราพัฒนานักศึกษาโดยเฉพาะบัณฑิตที่จบไปให้เป็นผู้ประกอบการได้ อย่างน้อยเป็นนโยบานที่ช่วยอีกทางหนึ่งของนักศึกษาในเรื่องการตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ในปีหน้าเน้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คณะฯ เป็นอีกสาขาวิชาหนึ่งที่สามารถสร้างเศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์ได้ งานทุกชิ้นสามารถจับต้องได้หมด จะเห็นว่า งานของนักศึกษาสาขาและการออกแบบส่วนใหญ่ จะเน้นงานผลิตจริง ฉะนั้น พอเป็นงาน 3 มิติที่จับต้องได้ มันคือ รายละเอียดที่น่าสนใจ
ดร.ประภัสสร ประเทืองไทย ผู้รับผิดชอบโครงการแสดงผลงานศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาภาควิชาเทคโนโลยีศิลปอุตสาหกรรม มจพ. กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำแสดงผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ปีการศึกษา 2560 โดยทางคณะฯต้องการที่จะเผยแพร่ให้บุคคลภายนอก ได้เห็นผลงานของนักศึกษาเราว่า นักศึกษาได้มีการออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านใดบ้าง ซึ่งทางภาควิชามีการสอน 2 สาขาดังกล่าวที่มุ่งเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ใช้สอย ในการเรียนการสอนภาควิชาศิลปนิพนธ์จะพบว่า นักศึกษาของเราต้องการที่จะออกแบบเพื่อตอบสนองการใช้งานและชุมชนมากขึ้น มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อที่จะพัฒนาในเรื่องการใช้แมททีเรียลนวัตกรรมหรือรีไซเคิล มาออกแบบให้เกิดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ การเพิ่มมูลค่าของงานเซรามิกส์ โดยการทำเป็น จิวเวลรี่ จะเห็นว่างานหลาย ๆ อย่างจะตอบโจทย์ชุมชนคือ การช่วยเหลือหรือผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้งานที่เกิดประโยชน์แก่บุคคลโดยทั่วไปได้ดียิ่งขึ้น
การบูรณาการหลักสูตรของเรา ภายใต้ มจพ. มุ่งเน้นให้นักศึกษาของเราคิดเป็น ทำเป็น รู้จักออกแบบและผลิตได้ จะเห็นได้จากการแสดงผลงานในครั้งนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มีการออกแบบหลากหลายและตอบโจทย์ทุก ๆ ด้านของสังคม และมีการเชิญผู้ประกอบการหลาย ๆ ภาคส่วนมาร่วมตัดสินผลิตภัณฑ์ มุ่งเน้นให้เด็กจบไปตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้บัณฑิตของเรา ทั้งนี้ ทาง มจพ.มีศูนย์นวัตกรรมด้านการออกแบบโดยจะนำผลงานเหล่านี้ไปต่อยอดเชิงธุรกิจ
นางสาวณภัทร ชาญวิรัตน์ชัย (โกกิ) นักศึกษาสาขาศิลปประยุกต์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มจพ.ชั้นปีที่ 4 กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่นำมาโชว์เป็นของสะสม ออกมาแนว Art Toy โดยได้แรงบันดาลใจมาจากตัวตลกในหนังตะลุงภาคใต้ของไทย แต่เรานำมาปรับคาแรคเตอร์ให้มันน่ารักขึ้น เพี่อนำมาออกแบบของเล่นเพื่อเป็นการส่งเสริมการละเล่นพื้นเมือง และการท่องเที่ยวภาคใต้ผ่านทางของเล่นและของสะสม โดยใช้หนังตะลุงที่เป็นอัตลักษณ์ภาคใต้เป็นตัวเชื่อมโยง
ชิ้นงานทำจากเรซิ่น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำเองโดยการขึ้นต้นแบบด้วยขี้ผึ้งก่อน จากนั้นเราก็ไปทำพิมพ์ด้วยซิลิโคน และหล่อเรซิ่นขึ้นมา ซึ่งผลิตภัณฑ์ของเราถ้าลูกค้าสั่งมาเราก็ยินดีทำให้ แต่ยังไม่ได้ตั้งใจที่จะขายเยอะ ๆ เพราะ ชิ้นงาน 1 ตัวใช้เวลาค่อนข้างนาน ต้องเก็บรายละเอียดขัดให้เรียบร้อย สนนราคาต่อตัวประมาณ 2,000 บาท อาจจะดูราคาแพง แต่ถ้าเทียบกับสิ่งที่เราตั้งใจทำแล้วคุ้มค่า เราทำด้วยมือคนเดียวทุกขั้นตอน ซึ่งแนวคิดของผลิตภัณฑ์ได้มาจากช่วงที่ไปฝึกงาน ตนได้ไปฝึกกับบริษัททำ Art Toy มา
ดูผลงานของน้องได้ที่ IG : gogi_space หรือ 092-3980424
01 สิงหาคม 2561
ผู้ชม 2692 ครั้ง