การจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคี ที่จัดการศึกษาร่วมกับสถานประกอบการชั้นนำที่ได้มาตรฐาน โดยใช้หลักสูตรที่แตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป นั่นคือ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (Bachelor of Technology) ผู้ที่จบการศึกษาจะได้รับวุฒิการศึกษา สายเทคโนโลยีบัณฑิต อักษรย่อ ทล.บ. ซึ่งผู้ที่จบการศึกษาจะเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ มีสมรรถนะในการปฺฏิบัติ และสามารถพัฒนางานในระดับเทคโนโลยีได้อย่างดี สามารถปฏิบัติงานและเป็นผู้ควบคุมงาน หรือประกอบอาชีพอิสระได้ พร้อมทั้งพัฒนาตนเองให้มีความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรมในการประกอบอาชีพ และมีจิตอาสานำความรู้ที่เรียนมาช่วยเหลือสังคม
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นองค์กรภาครัฐ ที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากร ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ถึงระดับปริญญาตรี ที่มีความรู้ ทักษะฝีมือและความเชี่ยวชาญทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยี จากสถาบันการอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทั้ง 23 แห่ง ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2561 ซึ่งจัดขึ้น ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดยมีผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ ประจำปีการศึกษา 2560 จำนวน 3,229 คน
ซึ่งผลสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากแผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาด้านวิชาชีพของอาชีวศึกษา ที่ให้ดำเนินการจัดการศึกษาต่อเนื่องได้ถึงระดับปริญญาตรี โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา ปี พ.ศ. 2551 ให้สถาบันการอาชีวศึกษาเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มีเป้าหมายหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้เป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นบัณฑิตนักเทคโนโลยีสายปฏิบัติการ ที่สอดคล้องกับความต้องการของกำลังคนของประเทศ
“บัณฑิตสายวิชาชีพ จึงมีทั้งความรู้ในหลักวิชาและความรู้ในการปฏิบัติจริง ซึ่งจะช่วยให้สามารถประกอบอาชีพได้ทันที ตามสาขาวิชาที่สำเร็จการศึกษา ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า บัณฑิตจะต้องนำความรู้ทั้ง ๒ ด้านมาใช้ประกอบส่งเสริมกันให้ได้ผล พร้อมทั้งพากเพียรหาความรู้เพิ่มเติม และสร้างสมความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติอยู่เสมอ ถ้าทำได้ แต่ละคนก็จะมีความสำเร็จและความเจริญมั่นคงในอาชีพการงาน อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาติบ้านเมืองก้าวหน้ารุ่งเรืองสืบไป” ความตอนหนึ่งจากพระราโชวาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการอาชีวศึกษา ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๐ ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๑
20 สิงหาคม 2561
ผู้ชม 891 ครั้ง