วันนี้ (29 ตุลาคม 2561) วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย จังหวัดเชียงราย : พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่าในการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ในพื้นที่การประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 8 / 2561 ภาคเหนือตอนบน เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน โดยเป็นการตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงาน และการขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ของศูนย์ภาคเหนือ โดยวิทยาลัยบึงพระพิษณุโลก วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ และวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ซึ่งได้ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์ฯ ใน 6 ภารกิจ ที่ประกอบด้วยข้อมูลกลาง การส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานอาชีพ การระดมทรัพยากรและความร่วมมือ การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีงานทำ การวิจัยและพัฒนา และการสร้าง การรับรู้ โดย สอศ. ได้มีการนำเสนอรวมภารกิจการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เข้าเชื่อมโยงฐานข้อมูลสู่ศูนย์ ประสานงานกำลังคนอาชีวศึกษา ซึ่งจะได้มีการทบทวนภารกิจ และสร้างความเข้าใจกับสถานประกอบการ 5 ภูมิภาค เพื่อขยายฐานการจัดการศึกษาให้ครอบคลุมในลำดับต่อไป
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ได้มีการติดตามในเรื่องของการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาเพื่อจัดระดับคุณภาพสถานศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาสถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐ และอาชีวศึกษาเอกชน ให้เป็นไปตามแนวนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีผลการประเมินสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชนจัดอยู่ในระดับระดับดี และระดับดีมาก โดยมีสถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐที่อยู่ในระดับพอใช้ เพียง 4 แห่ง (วิทยาลัยเทคนิคประโคนชัย วิทยาลัยการอาชีพ รัตนประสิทธิ์วิทย์ วิทยาลัยการอาชีพมหาราช และวิทยาลัยการอาชีพวัดโฆสมังคลาราม) ถือว่าเป็นส่วนน้อย และ 2 แห่ง เป็นสถานศึกษาตั้งใหม่ ทั้งนี้ได้มีการกำชับเพิ่มเติมและมอบหมายให้สอศ. เร่งปรับแผน และระดมทรัพยากร มาบูรณาการการจัดการเรียนการสอน และการบริหารจัดการ โดยติดตามกันในทุกไตรมาส เพื่อพัฒนาสถานศึกษาทั้ง 4 แห่ง ให้เข้าสู่ในระดับดี หรือดีมาก โดยเร็วที่สุด เพื่อรองรับการให้บริการการศึกษาสายอาชีพ ได้อย่างมีมาตรฐานและครอบคลุมพื้นที่ โดยวันนี้ สอศ. ได้มีการนำเสนอรูปแบบและโครงการฯ ต่างๆ ที่ดำเนินการเพื่อยกระดับสถานศึกษาดังกล่าว เช่นการจัดหาบุคลากรที่มีคุณวุฒิตรงตามสาขาวิชาเพื่อยกระดับคุณภาพผู้เรียน โครงการเพิ่มผู้เรียนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี โครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการ โดยมีสถานศึกษาที่อยู่ในระดับดี และดีมากเป็นพี่เลี้ยง
สำหรับความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ซึ่งในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือ มีจำนวนการจับคู่เชิงธุรกิจ 170 ชิ้น มูลค่า 228,815 บาท โดยมีภาพรวมทั่วประเทศ ณ วันนี้ มีมูลค่ากว่า 3 ล้านบาท และมีผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงและจัดส่ง ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกกว่า 139,000,000 บาท (หนึ่งร้อยสามสิบเก้าล้านบาท)
30 ตุลาคม 2561
ผู้ชม 500 ครั้ง