ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เข้าร่วมการเปิด – ปิดภาคเรียนตามสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ปรับเวลาของการเปิดภาคเรียนของไทย เพื่อให้ตรงกับการเปิดภาคเรียนของประเทศสากลทั่วโลก ซึ่งจะทำให้เกิดความสอดคล้องกันในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาอุดมศึกษาในทุกๆ ด้าน ทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา ครู อาจารย์ และนักศึกษา หรือการผลิตบัณฑิตเพื่อรองรับตลาดอาเซียน รวมไปถึงสามารถรับนักศึกษาต่างชาติได้สะดวกเมื่อปฏิทินการศึกษาตรงกัน
ศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา ประเทพา รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมา การเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน ส่งผลกระทบกับการเรียนการสอนของ มมส ค่อนข้างมาก ในวันนี้ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มีประกาศปรับเปลี่ยนการเปิดภาคเรียนจากแบบอาเซียนเป็นแบบเดิม คือเปิดเรียนเดือนมิถุนายน ปีการศึกษา 2563 เนื่องจากมีข้อมูลจากการศึกษา วิจัย ในปี 2560 ของนายสวัสดิ์ วิชระโภชน์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ บุคลากรกองทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรื่อง “การศึกษาผลกระทบของการเปิด – ปิดภาคเรียนตามสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มประชาคมอาเซียนต่อการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม”
โดยได้สอบถามกลุ่ม นิสิต เจ้าหน้าที่ และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมจำนวน 1,000 กว่าคนพบว่า การเปิด – ปิดตามอาเซียน มีผลกระทบด้านการจัดการงบประมาณของมหาวิทยาลัย ก็คือ เปิดเทอมในช่วงเดือนสิงหาคม เรียกว่าเป็นต้นปีการศึกษานิสิตมีการชำระค่าเทอม ล่าช้าไปถึงเดือนกันยายน ขณะเดียวกันเดือนกันยายน ก็สิ้นปีงบประมาณ ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อใช้จัดโครงการ จัดกิจกรรมของอาจารย์ ช่วง 2 เดือนนี้ จะมีปัญหาค่อนข้างมากเนื่องจากระยะเวลาที่ไม่สอดคล้องกัน
นอกจากนี้ ในเรื่องของหลักสูตร บางหลักสูตรต้องส่งนิสิตไปฝึกสอนตามโรงเรียน กลับเป็นช่วงที่โรงเรียนปิดเทอม ซึ่งต้องมีการวางแผน จัดปฏิทินการศึกษาให้ดีเพื่อไม่ให้นิสิตเราเสียเวลา และสามารถสำเร็จการศึกษาตามระยะเวลาที่กำหนดได้โดยไม่กระทบ แม้กระทั่งการส่งนิสิตไปฝึกงาน บางช่วงบางหน่วยงานก็อาจไม่ได้รับนิสิตฝึกงานของเรา เนื่องจากได้รับนักศึกษาจากสถาบันอื่นแล้ว เราส่งไปช้าไป นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องวางแผนจัดการใหม่
ดังนั้น การกลับไปเปิด - ปิดภาคเรียนในช่วงเวลาเดิมน่าจะเหมาะสมกับสภาพการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยมากกว่า ทั้งนี้ได้วางแผนและคำนึงถึงผลกระทบอื่นๆ ไว้อย่างครอบคลุมรอบด้านแล้ว ทั้งเรื่องการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา หรือทีแคส ซึ่งทุกฝ่ายทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง นิสิตที่กำลังศึกษาอยู่จะไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
สำหรับประกาศ เรื่อง ปฏิทินการศึกษาระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปรับเปลี่ยนการเปิด-ปิดภาคเรียนการศึกษาจากแบบประเทศในกลุ่มอาเซียน คือ ภาคเรียนที่ 1 เดือนสิงหาคม-ธันวาคม และภาคเรียนที่ 2 เดือนมกราคม-พฤษภาคม กลับมาเป็นแบบเดิม คือ ภาคเรียนที่ 1 เดือนมิถุนายน- ตุลาคม และภาคเรียนที่ 2 เดือนพฤศจิกายน-มีนาคม โดยจะเริ่มเปลี่ยนเวลาเปิดเทอม 1 เป็นเดือนมิถุนายน ในปี พ.ศ.2563 เพื่อป้องกันความสับสนจึงขอให้ผู้ปฏิบัติงาน นิสิตและผู้เกี่ยวข้อง ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากกองทะเบียนและประมวลผล และช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย” ศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา กล่าว
ด้าน นางสาวกมลวรรณ ลาเนตร์ นิสิตคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มมส บอกว่า เห็นด้วย ที่มหาวิทยาลัยจะกลับมาเปิดภาคเรียนแบบเดิม เพราะการเปิดภาคเรียนแบบอาเซียน ส่วนตัวได้รับผลกระทบในเรื่องการเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัว คือมีน้องที่เรียนในชั้นมัธยม ในช่วงน้องปิดเทอม เราก็มีเรียน วันหยุดไม่ตรงกัน ไม่มีเวลาที่จะได้ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว นอกจากนี้ การเปิดตามอาเซียน ยังส่งผลต่อการฝึกงาน เพราะยิ่งมีการเปิด-ปิดภาคเรียนช้ากว่ามหาวิทยาลัยอื่น ทำให้เข้ารับการฝึกงานช้า แหล่งฝึกงานที่เราต้องการจะไปรับนักศึกษาเต็มแล้ว ทำให้เสียโอกาสในที่ฝึกงานที่เราต้องการ
นายสหภาพ ทรงจันทึก นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มมส กล่าวว่า ความแตกต่างของการเปิดตามอาเซียน และแบบเดิมที่เห็นได้ชัดและได้จัดการตัวเองใหม่ คือช่วงที่จบม.6 และจะมาเข้าเรียนในปี 1 มหาวิทยาลัย มีช่วงเว้นว่างถึง 6 เดือน เลยได้มีโอกาสหางานพิเศษทำเพื่อรอเวลา ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ได้หารายได้ช่วยครอบครัวและเก็บเงินไว้เรียนหนังสือ ส่วนที่จะกระทบบ้างคือเวลาปิดเทอมไม่ตรงกับน้องที่ยังเรียนมัธยม การไปมานัดหมายพบปะกันค่อนข้างยาก ต้องวางแผนกันใหม่ สำหรับ มมส ที่ประกาศจะกลับมาเปิดเรียนแบบเดิมนั้น รู้สึกเห็นด้วย เพราะจะได้สอดคล้องกับอากาศบ้านเรา เดินทางจากหอพักมาเรียนในช่วงอากาศร้อน ไม่มีทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน ห้องเรียนในอาคารต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดทั้งวัน จนส่งผลให้ค่าใช้จ่ายค่าน้ำ-ไฟสูงขึ้นมากกว่าปกติ การเปิดเรียนแบบเดิมน่าจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย
นางสาวลลิตา ภานุรักษ์ และ นางสาวศิริลักษณ์ สงคราม นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มมส ให้ความเห็นว่า จะเปิดปิดตามอาเซียน หรือแบบเดิม ก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรที่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะมองว่าทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีข้อดีและข้อเสีย อยู่ที่ว่าเราจะสามารถปรับตัวและเปลี่ยนตัวเองให้เป็นไปตามสถานการณ์นั้นได้มากน้อยแค่ไหน แต่ผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายก็ไม่ควรที่จะทดลองกลับไปกลับมาบ่อยๆ จะทำให้ผู้ปฏิบัติตามเกิดความสับสน หาก มมส จะกลับไปเปิดปิดตามเดิม ก็รู้สึกเห็นด้วย เพราะน่าจะเหมาะกับบริบทและธรรมชาติของคนไทยมากกว่า
ทางด้านที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ก็เคยได้ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้ขึ้นกับความพร้อมของมหาวิทยาลัยเพราะแต่ละแห่งมีข้อจำกัดแตกต่างกัน หากประเมินแล้วว่ากลับสู่ระบบเดิมดีกว่าก็ไม่มีปัญหา แต่ก็อยากให้มองระยะยาว และเอาอนาคตเป็นที่ตั้ง ซึ่งกว่าจะไปสู่เป้าหมายก็ต้องใช้เวลามาก
11 มีนาคม 2562
ผู้ชม 3112 ครั้ง