ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีขยะประเภทกิ่งไม้ ใบไม้ที่เกิดจากการตัดแต่งกิ่ง และการตัดหญ้าของงานภูมิทัศน์ มีปริมาณเป็นจำนวนมากต่อวัน โดยงานจัดการขยะและของเสีย กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้มีแนวคิดที่จะเพิ่มคุณค่าของเศษใบไม้เหล่านี้ โดยการนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร มีประสิทธิภาพและรักษาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการส่งเสริมนโยบายมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) อุดมไปด้วยไนโตรเจนและธาตุอาหารที่ครบถ้วนเหมาะสำหรับพืช สามารถใช้ปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ดอกไม้ประดับ พืช ผัก และผลไม้
นางสาวจุฬาลักษณ์ ปะวันนา เจ้าหน้าที่งานจัดการขยะและของเสีย กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า หลังจากที่กองอาคารสถานที่ มีนโยบายดำเนินการพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคามให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มุ่งมั่นจัดการขยะมูลฝอยอย่างเป็นระบบโดยการมีส่วนร่วมของทุกส่วนงาน นอกเหนือจากรณรงค์การคัดแยกขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้แล้ว การจัดการกับปัญหาขยะที่สามารถย่อยสลายได้ก็เป็นอีกงานหนึ่งที่ต้องทำต่อเนื่องควบคู่กันไปนั่นก็คือการทำปุ๋ยอินทรีย์จากเศษใบไม้
โดยการทำปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากหมักบ่มสารอินทรีย์ด้วยจุลินทรีย์ ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้สลายตัวและผุพังไปบางส่วน ทำให้ได้ปุ๋ยที่มีลักษณะสีคล้ำดำ มีลักษณะเป็นผง ละเอียดเหมาะ สำหรับการปรับปรุงดิน และให้ธาตุอาหารแก่พืช มีส่วนผสม เศษอินทรีย์ ได้แก่ ใบไม้ เศษหญ้า 10 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน แกลบดำ 1 ส่วน และน้ำหมักชีวภาพ (EM) 1 ส่วน
โดยมีขั้นตอน และวิธีทำ คือ สับย่อยเศษใบไม้ ใบหญ้า ผสมปุ๋ยคอก แกลบดำ และเศษใบไม้ เศษหญ้า ที่ผ่านการสับละเอียดคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นไปวางกองเรียงเป็นแถวให้มีความหนาไม่ 15 เซนติเมตร รดน้ำหมักชีวภาพให้ทั่วกองปุ๋ยและรดน้ำตาม กลับกองปุ๋ยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทิ้งไว้ให้ย่อยสลายประมาณ 45-60 วัน ขั้นตอนสุดท้ายนำไปอัดเม็ดและนำไปใช้ประโยชน์
สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ เมื่อปุ๋ยเริ่มย่อยสลายจะมีลักษณะสีคล้ำดำ แสดงว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทั้งปริมาณอินทรีย์วัตถุ แร่ธาตุอาหาร ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน
ทั้งนี้ งานภูมิทัศน์ กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้นำปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้ดังกล่าว ไปบำรุงต้นไม้ ปรับปรุงดิน ภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สามารถลดค่าใช้จ่ายการจัดซื้อปุ๋ย อีกทั้งทำให้ภูมิทัศน์ของมหาวิทยาลัย เกิดความสวยงาม ร่มรื่น มีบรรยากาศที่ดีในการเรียน การทำงาน และเกิดความประทับใจแก่ผู้มาเยือน
27 พฤษภาคม 2562
ผู้ชม 1046 ครั้ง