“ขนมไทย” นับเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมประจำชาติอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นสำรับของว่าง หรือทำในช่วงงานเทศกาล ประเพณีหรือในทางศาสนา เพราะขนมไทยเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย การเรียนรู้และอนุรักษ์การทำขนมไทย คนในชุมชนจะเป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญาจากผู้รู้ในชุมชน เพื่อให้สามารถถ่ายทอดและคงไว้ ตลอดจนเป็นการสร้างรายได้ ให้กับประชาชนในพื้นที่ แต่การเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้ขนมไทยพื้นเมืองสูญหายไปตามกาลเวลา เนื่องจากการทำขนมไทยเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ไม่ใช้ภาษา หรือไม่มีการบันทึกไว้เป็นเรื่องราว เป็นหลักฐาน แต่ใช้การสืบทอดแบบบอกต่อปากต่อปาก รุ่นต่อรุ่น
ในฐานะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (มทร.รัตนโกสินทร์) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ จึงได้จัดนิทรรศการถ่ายทอดการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านขนมไทย โดยมหาวิทยาลัยได้น้อมนำกรอบการใช้ประโยชน์มาดำเนินการภายใต้กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากร โดยนำภูมิปัญญาชาวบ้านด้านขนมไทย 4 ภาค จำนวน 100 ชนิด มาถ่ายทอดผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริง ( Augmented Reality: AR) และเทคโนโลยีสื่อสารแบบไร้สายระยะใกล้ (Near Field Communication : NFC )
วันนี้ 10 มิ.ย. 62 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาคีรา ราชเวียง รองอธิการบดี มทร.รัตนโกสินทร์ กล่าวเปิดงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการบริการวิชาการเพื่อถ่ายทอดการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้วยเทคโนโลยีความเป็นจริงส่วนขยาย ณ สถาบันศิลปะและวัฒนธรรม มทร.รัตนโกสินทร์ว่า มทร.รัตนโกสินทร์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ และดำเนินการกิจกรรมภายใต้แผนแม่บท และกระบวนการในการอนุรักษ์ พัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืชของประเทศให้ยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนให้มากที่สุดบนพื้นฐานคุณธรรม ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่ตลอดเวลาให้บังเกิดผลอย่างจริงจังต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ เป็นระยะเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 10-14 มิถุนายน 2562 โดยกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และผู้สนใจ จำนวน 600 คน สำหรับกิจกรรมนิทรรศการ ถ่ายทอดการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านด้านขนมไทย ด้วยเทคโนโลยีความเป็นจริงส่วนขยายที่จัดขึ้น นับเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และผู้สนใจทั่วไป
10 มิถุนายน 2562
ผู้ชม 669 ครั้ง