สกศ.ลงพื้นที่ดูงาน รร.บ้านแสนสุข จ.สระแก้ว
สร้างความเสมอภาค-ความเท่าเทียมทางการศึกษา
พื้นที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่มีความสําคัญทางเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยวและความมั่นคงแล้ว ยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีความสําคัญทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย บริเวณดังกล่าวเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ทางปัญญาของชาวกัมพูชาที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ในระบบการศึกษาของไทย
เช้าวันที่ 12 กันยายน 2562 ณ โรงเรียนบ้านแสนสุข ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ นายณรงค์ ดูดิง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และคณะกรรมการสภาการศึกษา พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชน ศึกษาดูงานเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษาให้กับกรรมการสภาการศึกษา จังหวัดสระแก้ว โดยมี นายบรรจรงค์ วรเศรษฐสุขศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแสนสุข คณะครูและนักเรียน ให้การต้อนรับ
ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (
สิ่งที่เป็นแรงจูงใจให้กับประชากรในกัมพูชาในแถบใกล้เคียงที่จะส่งลูกให้เข้ามาเรียนในพื้นที่ของประเทศไทย คือ ในเรื่องของสวัสดิการของรัฐ เด็กไทยทุกคนต้องได้เรียนถึง ม.3 เด็กฝั่งกัมพูชาที่ข้ามมาเรียนก็ต้องได้ สิทธิต่าง ๆ เหมือนเด็กไทยทุกคน เช่น ชุดนักเรียน แบบเรียน กระเป๋าเรียน อาหารกลางวัน สวัสดิการ สิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจ นอกเหนือจากความสะดวกสบายในการเดินทางแล้ว ถ้าเรียนอยู่ในกัมพูชา เขาต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ถ้าข้ามมาเรียนที่ฝั่งไทยเขาจะได้รับสิทธิประโยชน์เทียมเท่าเด็กไทย
และสิ่งที่มีความพิเศษ คือ มีการจัดหารายได้ของโรงเรียน โดยนักเรียนมีส่วนในการหารายได้ จะเห็นว่า มีการเลี้ยงไก่ปลูกผัก จับปลา เป็นทั้งการเรียนการสอน การฝึกอาชีพให้แก่นักเรียนโดยหลาย ๆ ทางประกอบกัน แต่รายได้เหล่านี้ย้อนกลับไปที่นักเรียน โดยมีการเลี้ยงข้าวเช้าให้แก่เด็ก ๆ ฉะนั้น การมีสวัสดิการหลาย ๆ อย่าง ทั้งเด็กไทยกับเด็กกัมพูชาจะได้เหมือน ๆ กัน ทำให้คนที่อยู่ฝั่งกัมพูชานิยมที่จะส่งบุตรหลานมาเรียนในไทย
เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเรื่องคุณภาพการศึกษาโรงเรียนบ้านแสนสุข พยายามที่จะจ้างครูหลาย ๆ ภาษามาสอนนักเรียน เพื่อให้เกิดความแตกต่างจากโรงเรียนอื่น สิ่งที่ย้อนกลับมา คือ ชาวบ้านที่เคยส่งลูกไปเรียนที่อื่น พอมีเด็กรุ่นใหม่ ๆ เกิดขึ้นเขาก็จะส่งกลับมาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ โดยอัตราส่วนที่เด็กกัมพูชามาเรียนในไทย 60 เปอร์เซ็นต์ และ 40 เปอร์เซ็นต์ คือเด็กไทย ซึ่งแนวโน้มเด็กไทยจะมีเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ในระดับชั้นอนุบาล 1- 3 และ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- 2 เนื่องจาก โรงเรียนได้รับความเชื่อถือและความไว้วางใจต่อผู้ปกครองมากขึ้น
นายบรรจรงค์ วรเศรษฐสุขศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแสนสุข กล่าวว่า โรงเรียนบ้านแสนสุข จัดการศึกษาให้กับนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่งเสริมให้นักเรียนได้รับการพัฒนาด้านการอ่าน การเขียนตามเกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ ส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจในทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ มีทักษะพื้นฐานด้านการสื่อสาร และมีทักษะในการทำงานและประกอบอาชีพ ปัจจุบันมีครูรวมทั้งหมด 8 คนและนักเรียนทั้งหมด 128 คน
สิ่งที่คุณครูอยากให้นักเรียนได้รับ อาจจะไม่ใช่เป้าหมายที่มองเห็น โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้ มีคุณธรรม มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลาง มีคุณลักษณะความเป็นไทยในตัวเด็กนักเรียน คือ ยิ้มง่าย ไหว้งาม พัฒนาไปสู่มาตรฐานการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี มีความพอเพียง และเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งในการสร้างงานสร้างความสำเร็จทุกครั้งที่เริ่มทำงานของโรงเรียนบ้านแสนสุข เรามั่นใจได้อย่างแน่นอนว่า เด็กของเราได้รับประสบการณ์ที่เราหวังอยากให้เกิดกับเด็กอย่างแท้จริง
สอ.สนธยา เชื้อชาติ ผบ.ชุดปฏิบัติการ กรม ท.พ.12 บอกว่า การที่ทหารมาปฏิบัติการเป็นความร่วมมือในการดูแลเด็กแนวตะเข็บชายแดน ทหารมีหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกดูแลความเรียบร้อยในการเดินทางข้ามฝั่งของเด็กนักเรียนกัมพูชา พ่อแม่มาส่งแค่ฝั่งกัมพูชาคือ ทางขึ้นสะพานเท่านั้น เด็กนักเรียนก็จะเดินและปั่นจักรยานเข้ามาที่ฝั่งไทย มีบางส่วนนั่งรถรับส่งของโรงเรียน ในวันหนึ่ง ๆ มีเด็กนักเรียนเดินทางเข้ามาวันละประมาณ 60 คน (มาเช้าเย็นกลับ) เริ่มมาตั้งแต่ 6.30 น.และจะมีการปั่นจักรยานและเดินทางกลับเมื่อเลิกเรียน
นายณรงค์ ดูดิง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านแสนสุขว่า ในการดูพื้นที่ที่โรงเรียนบ้านแสนสุข มีเด็กกัมพูชาเข้ามาเรียนมากกว่าเด็กไทย ประมาณ 60 คน จะเห็นได้ว่า วงการศึกษาของไทย ครูมีความรักเด็กไม่เลือกปฏิบัติ แม้ต่างสัญชาติก็ตาม เด็ก ๆ กัมพูชา เหล่านั้น จึงมีโอกาสทางการศึกษาอย่างแท้จริง อีกทั้ง ทางโรงเรียนได้ใช้ศาสตร์พระราชาในการนำโรงเรียน และผู้บริหารโรงเรียน มีความสามารถเฉพาะตัวที่สามารถหางบประมาณจากภายนอก จากเอกชน ผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ระดมทุนมาสร้างอาคารเรียน สร้างบ้านพักครู และกำลังสร้างพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ รวมถึงการสอนทักษะอาชีพที่หลากหลายอาชีพ สามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ สิ่งนี้เราพบว่า ผู้บริหารโรงเรียนนั้น ถ้ามีความจริงจังและมีความสามารถก็จะสามารถพัฒนาโรงเรียนของเขาได้ โดยไม่จำเป็นต้องรองบประมาณจากทางรัฐบาล ขอชื่นชมผู้บริหารโรงเรียนตามแนวชายแดนที่อยู่ห่างไกลความเจริญต่างดิ้นรน เพื่อให้รอดจากการถูกยุบของโรงเรียนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า เด็กกัมพูชานิยมมาเรียนในฝั่งไทย เพราะ หากจบการศึกษาไปส่วนใหญ่ก็จะกลับมาทำงานในไทย สิ่งที่มองเห็นคือ เนื่องจากไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ มาเรียนในไทยแล้วก็ออกกลางคันมากพอควร ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่พ่อแม่ชาวกัมพูชาอยากให้ลูกมาเรียนในฝั่งไทย เพราะ จะได้ประโยชน์ ได้ทำงานยกฐานะทางเศรษฐกิจ ยกฐานะทางครอบครัว แม้ว่าโรงเรียนของกัมพูชาจะห่างจากโรงเรียนบ้านแสนสุขไปประมาณ 5 กิโลเมตรเท่านั้น แต่พ่อแม่ฝั่งกัมพูชาก็นิยมส่งลูกหลานมาเรียนในไทย เพราะ “ เรียนภาษาเขมรได้ภาษาเขมร ไม่ได้ภาษาไทย” และเชื่อมั่นในคุณภาพการศึกษาไทย ที่สำคัญ ในเรื่องสวัสดิการ ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ฟรีทุกรายการเทียบเท่าเด็กไทย
ดวงกมล อุรัสยะนันทน์
รายงาน
15 กันยายน 2562
ผู้ชม 1241 ครั้ง