วันที่ (20 พ.ย.)ที่วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี มีพิธีส่งมอบ“ชุดโซล่าเซลล์ชุมชนพลังงานสำรองเพื่อการสื่อสารในภาวะภัยพิบัติ“ภายใต้โครงการที่ได้รับเงินพระราชทานระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและจังหวัดสุราษฎร์ธานีบริจาคช่วยเหลือประชาชนในยามประสบภัยพิบัติภาคใต้ โดยมี ดร. ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายชัยมงคล เสนาสุ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)ร่วมในพิธีส่งมอบและรับมอบ ณ ที่ทำการกำนันและชุมชน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 131 ชุด
ดร. ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โซล่าเซลล์ชุมชนพลังงานสำรองเพื่อการสื่อสารในภาวะภัยพิบัตินี้ ได้จากพระราชทรัพย์พระราชทาน พระบาทสมเด็จฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ ได้จัดสรรงบประมาณ ผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภายใต้โครงการที่ได้รับเงินพระราชทานบริจาคช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติภาคใต้ ซึ่งถือเป็นสิริมงคลและเมื่อได้รับไปแล้วตนขอให้ช่วยกันดูแลบำรุงรักษาให้ดี
จุดที่เป็นแนวคิดของโครงการดังกล่าว เริ่มต้นจากการที่เมื่อเกิดภัยพิบัติจริง ๆ ยกกรณีตัวอย่างตอนที่เกิดพายุปลาบึกสิ่งที่เห็นชัดเจนคือ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วงนั้นเสาไฟฟ้าล้มทำให้ไม่สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกำนัน พี่น้องประชาชน มายังส่วนกลางเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งถือว่ากำนันเป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างพี่น้องประชาชนกับจังหวัด ทั้งนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด จึงเป็นปัญหาอย่างมาก นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงต้องไปติดตั้งที่ทำการกำนันของทุกตำบล เพราะถ้าหากว่ากระแสไฟฟ้า โดยปกติไม่สามารถใช้งานได้ เราก็มีการสำรองไฟฟ้าอยู่ สามารถใช้กับวิทยุสื่อสาร ชาร์ตโทรศัพท์มือถือหรือกระแสไฟฟ้าส่องสว่างก็ใช้ได้ อันนี้คือประโยชน์ที่จะส่งผลให้แก่พี่น้องประชาชนจริง ๆ
ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ต่อเนื่องคือ เด็กที่เรียนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง คือสาขาวิชาช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ได้นำความรู้ที่เรียนในห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ ไปปฏิบัติจริงในชุมชนและสังคมได้นำทั้งทฤษฎีและปฏิบัติไปใช้ พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นลูกหลานที่มาเรียนสามารถที่จะปฏิบัติได้ ทำงานได้ เขาก็เกิดความภาคภูมิใจ นี่เป็นประโยชน์ที่ถือได้ว่า เป็นการบูรณาการจากการจัดการเรียนการสอนสู่ชุมชนและสังคม นอกจากห้องเรียนปฏิบัติการแล้ว ที่สำคัญคือ ห้องเรียนในชุมชนในสังคมนั่นเอง สิ่งที่อาชีวะทำคือ การดึงเอาศักยภาพของเด็กเราที่เกิดจากการเรียนในห้องเรียนห้องทำการ ไปสู่ชุมชนจริง ๆ เป็นตัวชี้วัดของสายวิชาชีพว่า นอกเหนือจากตัวเองมีวิชาชีพแล้วสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ที่สำคัญพี่น้องก็ได้ประโยชน์
นายชัยมงคล เสนาสุ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสพระราชทาน 904 วปร. ได้มอบหมายให้ สอศ. ดำเนินการร่วมดำเนินการจัดทำชุดโซล่าเซลล์พร้อมติดตั้ง เพื่อเป็นพลังงานสำรองจ่ายไฟฟ้าให้แก่อุปกรณ์สื่อสาร วิทยุกระจายเสียง วิทยุสื่อสาร และโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับการติดต่อสื่อสารเพื่อให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ในช่วงเวลาที่เกิดภัยพิบัติ ณ ที่ทำการกำนันทุกตำบล เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเริ่มใน 3 จังหวัด คือจังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช รวม 364 จุด ซึ่ง สอศ. ส่งมอบและติดตั้งเรียบร้อยแล้ว 2 พื้นที่ คือ จังหวัดชุมพร 68 จุด จังหวัดนครศรีธรรมราช 165 จุด และ จังหวัดสุราษฎร์ธานี 131 จุด แล้วโดยใช้เวลาทำ 5 เดือน
สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานี สถานศึกษาสังกัดอาชีวศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งรับผิดชอบติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ มี 5 วิทยาลัย ดังนี้
นายสิรวิชญ์ ธนเศรษฐ์วงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ในฐานะประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้รับมอบหมายจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ ให้ดำเนินการจัดทำชุดโซล่าเซลล์ พร้อมติดตั้ง ณ ที่ทำการกำนัน เพื่อเป็นพลังงานสำรองและเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติต่าง ๆ ให้มีความคล่องตัวในการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยในจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงภัย จากพระราชทรัพย์พระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริได้จัดสรรงบประมาณผ่านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภายใต้โครงการที่ได้รับเงินพระราชทานบริจาคช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติภาคใต้ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
อาชีวศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อเป็นพลังงานสำรองใช้จ่ายไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์สื่อสาร ณ ที่ทำการกำนันทุกตำบล จำนวน 131 จุด เพื่อให้มีความคล่องตัวในการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย จากพระราชทรัพย์พระราชทาน นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เป็นการช่วยเหลือและบรรเทาภัยพิบัติให้แก่ประชาชนได้อย่างสูงสุด
21 พฤศจิกายน 2562
ผู้ชม 1058 ครั้ง