รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจการดำเนินการตามแนวทางบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชน อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย มาสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน โดยชี้แจงเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) และเปิดโอกาสให้ซักถามเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน ถึงแนวทางการดำเนินการตามมติครม.ในวาระ ต่างๆ อาทิ มติครม.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 มติครม.เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 64 และมติครม. เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 64 แนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างตาม MOU แนวทางการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตาม MOU ที่ครบวาระการจ้างงานในปี 65 และแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมาเข้ามาทำงาน ตามมาตรา 64 เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานของนายจ้าง/สถานประกอบการ และเพื่อให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถเข้าสู่ระบบการจ้างงานตามกฎหมายประเทศไทย ได้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้อง มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ต้องหลบซ่อน และได้รับสวัสดิการตามสิทธิที่พึงมี
“พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ตั้งมั่นให้ประเทศไทยบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวอย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้แรงงานที่ถูกกฎหมาย ควบคู่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่นายจ้าง/สถานประกอบการถึงแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานแรงงานต่างด้าวภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD - 19) เพื่อประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนการใช้แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมาย ขจัดต้นตอปัญหาการค้ามนุษย์ ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานรับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดำเนินการด้านการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 คลี่คลาย ได้เตรียมแนวทางบริหารจัดการแรงงาน 3 สัญชาติ ดังนี้
1.การนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเปิดให้นายจ้างที่มีความพร้อมยื่นคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (Demand) ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมีการยื่นคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (Demand) แล้ว จำนวน 1,813 คำร้อง ต้องการแรงงานต่างด้าว จำนวน 113,717 คน
2.การผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตาม MOU ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ในปี 65 ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 65 - 31 ธ.ค. 65 จำนวน 106,580 คน สามารถอยู่และทำงานต่อไปได้ โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
3.การนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมาเข้ามาทำงานตามมาตรา 64 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ใน 9 จังหวัด โดยเริ่มนำร่องในจังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดแรก ตั้งแต่เปิดประเทศวันที่ 1 ธ.ค. 64 และนำแนวทางดังกล่าวมาใช้ในในพื้นที่ 8 จังหวัด แบ่งเป็น สัญชาติกัมพูชา ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ สระแก้ว และตราด สัญชาติเมียนมา ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ตาก กาญจนบุรี และระนอง
21 กุมภาพันธ์ 2565
ผู้ชม 419 ครั้ง