จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 เวลา 16.25 น. คนงานของบริษัทรับเหมา ทำความสะอาดบ่อพักน้ำเสียบริเวณ คอนโด เดอะโคสต์ แบงค๊อก บางนา ขณะลงไปปฏิบัติงานในบ่อพัก แล้วเกิดหมดสติจมน้ำในบ่อพัก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และได้รับบาดเจ็บ 1 ราย นั้น นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตนขอแสดงความเสียใจและห่วงใยต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ ได้สั่งการด่วนให้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เร่งตรวจสอบและดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตโดยด่วน
ในวันนี้ (20 ก.ค.65) นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้มอบหมายให้ นายพินิจ ผุดไซตู ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 8 ร่วมคณะกับนางโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อชี้แจงสิทธิประโยชน์ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บ และเร่งประสานทายาทผู้เสียชีวิตเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนโดยด่วน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า คนงานได้ลงไปปฏิบัติงานแล้วหมดสติ ต่อมาอาสาสมัครและหน่วยกู้ชีพช่วยขึ้นมาได้ และเร่งช่วยชีวิต เนื่องจากผู้บาดเจ็บ ทุกคนจมน้ำก่อนนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งมีจำนวน 4 คน เป็นช่างอาคาร 3 คน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 1 คน ก่อนเกิดเหตุผู้รับเหมา 3 คน ได้ลงไปเช็คระบบไฟฟ้าด้านล่าง เกิดความผิดพลาดเรื่องการสับสวิตซ์ไฟภายในท่อน้ำดังกล่าวจนเกิดไฟฟ้าช็อต ทำให้ทั้งหมดเกิดหมดสติ ก่อนทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ของคอนโดพยายามลงไปช่วย ทำให้ไฟฟ้าดูดหมดสติอยู่ภายในเช่นเดียวกัน จึงทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ดังกล่าว
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า สำหรับรายชื่อผู้ประสบเหตุมีผู้เสียชีวิต 3 ราย คือ นายวราวุฒิ อู่นาท อายุ 23 ปี ช่างอาคาร นายทศพล ฟักสวัสดิ์ อายุ 26 ปี ช่างอาคาร และนายดิเรก อินทะรังษี อายุ 37 ปี ช่างอาคาร มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติกองทุน เงินทดแทน พ.ศ. 2537 เป็นเงินค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท จ่ายให้ผู้จัดการศพ พร้อมเงินทดแทนกรณีตายร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือนเป็นระยะเวลา 10 ปี และเงินบำเหน็จกรณีชราภาพ จ่ายให้กับทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมายเช่นกัน ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย คือ นายสารีมา แวกาจิ อายุ 37 ปี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เข้ารักษาตัวโรงพยาบาลไทยนครินทร์ ซึ่งผู้ได้รับบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงค่าทดแทน 70% ของค่าจ้าง กรณีลูกจ้างหยุดพักรักษาตัว ตามคำสั่งแพทย์ ตั้งแต่วันแรกที่หยุดงาน แต่ไม่เกิน 1 ปี ค่าทดแทน 70% ของค่าจ้าง กรณีสูญเสียอวัยวะ ไม่เกิน 10 ปี ลูกจ้างจะได้รับการประเมินเมื่อสิ้นสุดการรักษา และค่าทดแทน 70% ของค่าจ้างอีกด้วย ในการนี้ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จะให้การดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ได้รับบาดเจ็บ และทายาทของผู้เสียชีวิตให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วน ดุจคนในครอบครัวเดียวกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
20 กรกฎาคม 2565
ผู้ชม 294 ครั้ง