วันที่ 30 สิงหาคม 2565 เวลา 01.30 น. ได้เกิดเหตุระเบิดและเกิดเพลิงไหม้โรงงานบรรจุก๊าซหุงต้ม บริษัท วี.ไอ.พี ปิโตรเลียม จำกัด ในอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 5 ราย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความห่วงใยและเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมสั่งการด่วนให้ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ตรวจสอบ และให้การช่วยเหลือลูกจ้างผู้ประสบเหตุทันที
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้มอบหมาย นางขนิษฐา ศรีบัวชุม ประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ และนายฤทธิรงค์ เดชชำนาญ หัวหน้าสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางเสาธง ร่วมลงพื้นที่พร้อมคณะทำงานเฉพาะกิจและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และเข้าเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจผู้ได้รับบาดเจ็บ พร้อมให้ การช่วยเหลือผู้ประสบเหตุโดยทันที จากการตรวจสอบลูกจ้างประสบเหตุ เป็นลูกจ้างของบริษัท วี.ไอ.พี ปิโตรเลียม จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 30/100-1 หมู่ที่ 11 ถนนบางนา-ตราด กม.23 ตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางเสาธง ทั้งนี้ ลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บในที่เกิดเหตุมีจำนวน 5 ราย เป็นลูกจ้างสัญชาติไทย 2 ราย และสัญชาติเมียนมา 3 ราย ซึ่งชื่อ นายณรงค์ สารมะโน อายุ 50 ปี สัญชาติไทย ได้รับบาดเจ็บเป็นแผลไฟไหม้บริเวณใบหน้า แขน และขา ร้อยละ 90 ของร่างกาย ในวันที่เกิดเหตุได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบางนา 2 จังหวัดสมุทรปราการ และจะมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปทำการรักษาต่อที่โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี กรุงเทพฯ นายบุญส่ง จันทร์ศรี อายุ 59 ปี สัญชาติไทย ได้รับบาดเจ็บเป็นแผลไฟไหม้บริเวณใบหน้า แขน และขา ร้อยละ 70 ของร่างกาย ถูกนำตัวส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 ส่วนลูกจ้างสัญชาติเมียนมา 3 ราย ขณะนี้ได้ถูกนำตัว ส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบางเสาธง 1 ราย ได้รับบาดเจ็บเป็นแผลไฟไหม้บริเวณใบหน้า แขน และขา ร้อยละ 70 ของร่างกาย อีก 2 ราย ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ 2 ราย ได้รับบาดเจ็บเป็นแผลไฟไหม้บริเวณใบหน้า แขนและขา ร้อยละ 36 ของร่างกาย
ขณะนี้ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางเสาธง ได้เร่งตรวจสอบสิทธิกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทนของผู้ได้รับบาดเจ็บทั้ง 5 ราย ในเบื้องต้นหากเป็นการ ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน จะได้รับสิทธิความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน เป็นค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น และค่าทดแทนกรณีหยุดพักรักษาตัว ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สำหรับกรณี ที่ลูกจ้างต้องสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย จะจ่ายร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ตามระยะเวลา ที่ประกาศกระทรวงแรงงานกำหนดแต่ไม่เกิน 10 ปี กรณีถึงแก่ความตาย จะได้รับค่าทำศพจำนวน 50,000 บาท และค่าทดแทนรายเดือนร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี อีกด้วย
31 สิงหาคม 2565
ผู้ชม 658 ครั้ง