วันที่ 3 กันยายน 2565 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) (สำนักงานใหญ่) ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี ได้จัดงานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานประกันสังคมครบรอบ 32 ปี โดยในเวลา 09.30 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสำนักงานประกันสังคม และรางวัลสถานพยาบาลในดวงใจ โดยมีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในพิธี พร้อมกันนี้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมให้การต้อนรับ ในโอกาสนี้ “นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวแสดงความยินดี และชื่นชมถึงพัฒนาการของสำนักงานประกันสังคมที่พัฒนางานให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเป็นที่พึ่งและหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิต แก่แรงงานมาตลอด 32 ปี พร้อมก้าวสู่ปีที่ 33 เพื่อสร้างสรรค์ หลักประกันชีวิต ให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน”
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการตามนโยบายของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะการเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายลง รวมทั้งบูรณาการ การทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วนและมุ่งเน้นทำงานเชิงรุก โดยยึดกฎหมายและข้อบังคับ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ตรงจุด ทันท่วงที และมุ่งมั่นที่จะผลักดันนโยบายด้านแรงงานต่างๆ ทั้งการให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้าถึงระบบหลักประกันทางสังคม การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน การปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับบริการเชิงรุกให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง ผู้ประกันตน อย่างทันท่วงที ส่งเสริมการให้บริการภาครัฐไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และสร้างเครือข่ายประกันสังคมทั่วประเทศในการให้บริการกับนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน นอกจากนี้ รมว.แรงงาน ได้มอบนโยบายในปี 2566 เพื่อเป็นของขวัญและช่วยเหลือผู้ประกันตน ลูกจ้างและนายจ้าง สำนักงานประกันสังคมมีแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้
1. เพิ่มสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม โดยการปรับปรุง พ.ร.บ. ประกันสังคม ฉบับที่ ... พ.ศ. ... ได้แก่ การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตน เพื่อรองรับผู้สูงอายุ โดยขยายอายุขั้นสูงของ ผู้ประกันตน มาตรา 33 ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพและสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพ สามารถขอรับเงินบำนาญจ่ายล่วงหน้าได้ การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ กรณีชราภาพ อันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน 3 ขอ (ขอเลือก ขอคืน และขอกู้) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์อื่นๆ ได้แก่ เงินสงเคราะห์การหยุดงาน เพื่อการคลอดบุตร จากเดิมจ่าย 90 วัน เป็น 98 วัน เงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพ จากเดิมจ่าย ร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 กรณีสงเคราะห์บุตรให้ได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน ปรับปรุงเงื่อนไขในการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 และกำหนดให้เงินเพิ่มของผู้ประกันตน มาตรา 39 จะต้องไม่เกินเงินสมทบที่ต้องจ่าย เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้มีหลักประกันทางสังคมและได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ผู้ประกันตน สูงอายุได้รับโอกาสในการทำงานที่เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน
2. ยกระดับการบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุก โดยปรับปรุงรายการสุขภาพ ได้แก่ ขยายช่วงอายุ เพิ่มความถี่ในการตรวจ เพิ่มรายการตรวจ สุขภาพ เช่น การซักประวัติ การประเมินวัยทำงาน (คัดกรองโรคซึมเศร้า ประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด) การคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี (Anti HCV Rapid) การทำงานของตับ (SGOT, SGPT) เพิ่มการให้คำแนะนำและปรับพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยง พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพรายบุคคล ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเชิงรุกและสามารถพิสูจน์ตัวบุคคล ที่มีสิทธิได้อย่างถูกต้องและเชื่อมโยงข้อมูลและจัดเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำสมุดสุขภาพของผู้ประกันตน รวมถึงการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
3. พัฒนาและเพิ่มช่องทางรับเงินสมทบ – จ่ายประโยชน์ทดแทนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้นายจ้างและผู้ประกันตน ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเพิ่มช่องทางการรับชำระเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ผ่าน Mobile Application กับธนาคารและหน่วยบริการอื่นๆ เพิ่มช่องทางการชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ผ่านคิวอาร์โค้ด โดยการสแกนจ่าย ด้วยMobile Banking Application ของธนาคารต่างๆ โดยมีธนาคารกรุงไทย เป็นตัวกลางในการรวบรวมและนำส่งข้อมูลการชำระเงินและเงินที่รับชำระจากนายจ้าง/ ผู้ประกันตน ส่งให้กับสำนักงานประกันสังคม อีกทั้งเพิ่มธนาคาร ธ.ก.ส. เป็นหน่วยบริการในการรับชำระเงินสมทบของนายจ้าง และ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ผ่านระบบ e-Payment จากเดิม 13 แห่ง เป็น 14 แห่ง ทั้งนี้ ได้มีการพัฒนาระบบเพื่อให้ผู้ประกันตน และนายจ้างสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หากดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันตนได้เข้าถึงข้อมูลของตนเองได้ทุกที่ทุกเวลา และได้รับประโยชน์ทดแทนที่ถูกต้อง รวดเร็ว เป็นต้น
ในโอกาสนี้ “นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวขอบคุณและให้กำลังใจผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ประกันสังคม รวมถึงภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่ทุ่มเทเสียสละ ร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนพัฒนาระบบประกันสังคมให้เป็นที่ “ยอมรับ เชื่อมั่น และไว้วางใจ” ภายใต้ “ครอบครัวประกันสังคม” และอยู่เคียงข้างเป็นหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตของสังคมไทย ตลอดไป”
ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมมีภารกิจในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้แก่ลูกจ้างและผู้ประกันตน จวบจนวันนี้เป็นเวลา 32 ปีแล้ว ปัจจุบันมีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจำนวน 24.03 ล้านคน และเงินกองทุนเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2.23 ล้านล้านบาท “ผมให้ความสำคัญกับเรื่อง “SSO TRUST” ในการขับเคลื่อนสำนักงานประกันสังคมไปสู่ความสำเร็จ และเป็นที่ “ยอมรับ เชื่อมั่น และไว้วางใจ” ในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับผู้ประกันตน” ซึ่งใน ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้เผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคมได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และภาคีเครือข่าย “ครอบครัวประกันสังคม” เพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้แนวทาง “แรงงาน.. เราสู้ด้วยกัน” เพื่อก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้ ไปด้วยกัน โดยได้ดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ เพื่อขับเคลื่อนงานประกันสังคมให้เป็นที่ยอมรับ เชื่อมั่น ไว้วางใจ นำสู่ความสำเร็จ พร้อมมุ่งมั่นพัฒนางานประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง สำหรับผลงานในปี 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้ลดอัตราเงินสมทบตามพระราชกฤษฎีกาประกาศลดอัตราเงินสมทบให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบ เป็นระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่งวดวันที่ 1 สิงหาคม 2564 – 31 มกราคม 2565 และในงวดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 กรกฎาคม 2565 พร้อมดำเนินการจ่ายคืนเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่นำส่งเงินไว้เกินจำนวนที่ต้องชำระ พร้อมได้ดำเนินการคืนเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่นำส่งเงินสมทบไว้เกินจำนวนที่ต้องชำระ โดยวิธีการโอนเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน รอบแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 8 – 11 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยโอนเงินคืนเข้าบัญชีพร้อมเพย์ผู้ประกันตนมาตรา 40 ไปแล้ว จำนวน 2,884,909 ราย โอนเงินสำเร็จ คิดเป็นเงินจำนวน 402,289,546 และจะโอนเงิน อีกในรอบ 2 ระหว่างวันที่ 14 – 16 กันยายน 2565
เพิ่มช่องทางการให้บริการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย และว่างงาน ผ่านบริการพร้อมเพย์ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงบริการรับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีความโปร่งใส ลดความผิดพลาด โดยผู้ประกันตนไม่ต้องยื่นสำเนาหน้าบัญชีเงินฝากธนาคารกับสำนักงานประกันสังคมในการขอรับประโยชน์ทดแทนดังกล่าว อีกทั้งเป็นการลดการใช้กระดาษ (Paperless) ตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย ทั้งนี้ผู้ประกันตนดำเนินการลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารที่ผู้ประกันตนเปิดบัญชีไว้ได้ทุกธนาคาร และติดต่อขอรับประโยชน์ทดแทนได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ เริ่มให้บริการภายในเดือนกันยายน 2565 เป็นต้นไป
การปรับปรุงพัฒนาสิทธิประโยชน์มาตรา 40 สำนักงานประกันสังคมได้ศึกษาแนวทางการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ กรณีทุพพลภาพ สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ ทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 จากเดิมอัตราเดือนละ 500-1,000 บาท เป็นอัตราเดือนละ 1,000-2,000 บาท และทางเลือกที่ 3 จากเดิมอัตราเดือนละ 500-1,000 บาท เป็นอัตราเดือนละ 1500-หรือทุพพลภาพเพิ่มขึ้น โดยมีระยะเวลาความคุ้มครองตลอดชีวิตสำหรับทุกทางเลือก โดยส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติงานให้แก่เครือข่ายประกันสังคมตามมาตรา 40 เพื่อเป็นสื่อกลางในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเชิญชวนแรงงานภาคอิสระเข้าสู่ระบบประกันสังคม รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้เข้าใจสิทธิประโยชน์อันพึงได้รับตามกฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้มีการนำส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่องและยกระดับเครือข่ายงานประกันสังคมมาตรา 40 ในฐานะผู้นำหมู่บ้าน-ชุมชน ที่เป็นตัวแทนเครือข่ายภายใต้โครงการ เพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป นับเป็นการสร้างหลักประกัน ทางสังคม และยกระดับแรงงานนอกระบบให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับการจัดงานวันครบรอบ 32 ปี ของสำนักงานประกันสังคม ในวันนี้ ช่วงเช้าเป็นพิธีสงฆ์ และพิธีมอบโล่รางวัลให้แก่ผู้สนับสนุน ส่งเสริม และทำคุณประโยชน์ต่อสำนักงานประกันสังคม จำนวน 55 รางวัล สถานพยาบาล ในดวงใจ จำนวน 25 รางวัล และสถานประกอบการดีเด่น จำนวน 35 รางวัล อีกทั้งภายในงานยังจัดให้มีนิทรรศการ และบูธแสดงสินค้าพร้อมทั้งจำหน่ายที่กลุ่มสมาชิกเครือข่ายประกันสังคมทั่วไทยนำมาแสดง บูธสินค้า OTOP บูธฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ บูธโรงพยาบาล มาคอยให้บริการตรวจสุขภาพ การจัดแสดงผลงานและจำหน่ายสินค้าของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานทั้ง 5 แห่ง และในช่วงบ่ายได้จัดให้มีกิจกรรมวิชาการ “แฟนพันธ์แท้ ประกันสังคม” ตอบปัญหา ชิงรางวัลให้กับผู้เข้าร่วมงาน ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ อีกด้วย
05 กันยายน 2565
ผู้ชม 327 ครั้ง