วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 นางบุปผา พันธุ์เพ็ง รองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นางดรุณี นิธิทวีกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และ นายธีรเดช ถิรพร ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 3 สำนักงบประมาณ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการยกระดับเพื่อเพิ่มศักยภาพฝีมือและสมรรถนะแรงงาน หลักสูตร : การจัดดอกไม้ในงานพิธี โดยมี นายทเนตร นาคแย้ม แรงงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน นางนัยรัตน์ เจริญเมือง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านท่าข้าม พร้อมด้วย ร.ต.อ.ณัฐดนัย ปันศิริ และสมาชิกกลุ่มอาชีพ แกนนำอาสาสมัครแรงงานในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ ณ ศาลาอเนกประสงค์บ้านท่าข้าม ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
นางบุปผา กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะฝีมือแรงงานให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ให้ได้รับความรู้ทักษะฝีมือ สร้างความเข้มแข็งและมั่นคงให้แก่เศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนของประเทศสอดคล้องกับนโยบายของท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการยกระดับศักยภาพและดูแลสิทธิแรงงานนอกระบบให้ได้รับการคุ้มครองเพื่อรองรับ พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และในวันนี้ดิฉันได้ลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจและติดตามผลการดำเนินงานโครงการยกระดับเพื่อเพิ่มศักยภาพฝีมือและสมรรถนะแรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับงบประมาณโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพจากกระทรวงแรงงาน
นางบุปผา กล่าวต่อว่า จากการพูดคุยกับแกนนำอาสาสมัครแรงงานอำเภอแม่สะเรียง อาสาสมัครแรงงานตำบลบ้านกาศ และประธานกลุ่มที่ได้นำเสนอผลสัมฤทธิ์ของการฝึกอบรมจากโครงการดังกล่าว ทำให้ทราบว่า กลุ่มนี้มีนางนัยรัตน์ เจริญเมือง เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิก 20 คน มีรายได้เพิ่มขึ้นหลังการฝึกอบรม นอกเหนือจากการทำงานประจำ เฉลี่ยเดือนละ 500 – 1,000 บาท สมาชิกมีความต้องการให้กระทรวงแรงงานสนับสนุนการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ในสาขาต่าง ๆ และต้องการทุนหมุนเวียนในการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ อาทิ ความต้องการต่อยอดหลักสูตร การผูกผ้าและการจับจีบผ้าในงานพิธีต่าง ๆ เช่น งานบุญประจำปี งานบวช งานฝึกอบรม สัมมนา เป็นต้น สำหรับโครงการนี้ กระทรวงแรงงานเน้นพัฒนาทักษะองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม Up skill และ Re skill แรงงานให้สามารถทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรม บริการและรองรับการเปลี่ยนแปลงอาชีพใหม่ ๆ เนื่องจากพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่มีสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ จึงเน้นการพัฒนาทักษะด้านฝีมือที่สามารถนำไปต่อยอดได้จริง
“กระทรวงแรงงาน ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เล็งเห็นถึงสำคัญในการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับแรงงานจากโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ กิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือ ซึ่งทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ให้กับประชาชน นอกเหนือจากการทำการเกษตร อีกทั้งยังสามารถมีอาชีพเสริม เป็นการดูแลแรงงานนอกระบบให้มีรายได้เพิ่ม มีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นการพัฒนาต่อยอดวิสาหกิจชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งอีกด้วย” นางบุปผา กล่าวท้ายสุด
24 พฤศจิกายน 2565
ผู้ชม 409 ครั้ง