ดูบทความมบส. หนุนใช้ SROI ขับเคลื่อนงานบริหารจัดการมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ
มบส. หนุนใช้ SROI ขับเคลื่อนงานบริหารจัดการมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเร่งขยับโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ ปี 2566 หนุนใช้ SROI เป็นตัวขับเคลื่อนงานสู่เป้าหมาย
รศ.ดร.ชลลดา พงศ์พัฒนโยธิน รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัย(กอม.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ: การส่งเสริมความรักความสามัคคีและวินัยของชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยมี ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มบส.เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการดังกล่าวซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่หลากหลายและมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาบุคลากรในมหาวิทยาลัยให้มีศักยภาพ มีสมรรถนะ และมีทักษะรองรับการเปลี่ยนแปลง (Agile) และเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี และความมีวินัยของบุคลากรในมหาวิทยาลัยด้วยหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) และในการดำเนินงานก็จะใช้ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (Social Return On Investment, SROI) มาช่วยขับเคลื่อนการทำงานด้วย
รศ.ดร.ชลลดา กล่าวต่อไปว่า มหาวิทยาลัยยังได้กำหนดจัดกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่ก่อให้เกิดผลตอบแทนทางสังคม (Social Return On Investment-SROI) ภายใต้โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการมหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ: การส่งเสริมความรักความสามัคคีและวินัยของชาติ ระหว่างวันที่ 27-29 มกราคม 2566 ณ ศูนย์การศึกษาอู่ทองทวารวดี อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยจะเชิญคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้ในเชิงปฏิบัติแก่ผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้องของ มบส. เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs-Sustainable Development Goals) ต่อไป รศ.ดร.ชลลดา กล่าวอีกว่า สิ่งที่คาดหวังจากการประชุมเพื่อให้ผู้รับผิดชอบโครงการสามารถวิเคราะห์และประเมินความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณจากงบฯยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่ได้รับการจัดสรรมาอย่างต่อเนื่อง ว่าสามารถสร้างผลตอบแทนคืนสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลเชิงผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) มากน้อยเพียงใด อีกทั้งการวิเคราะห์และประเมินผลตอบแทนทางสังคมเป็นแนวทางหนึ่งที่ใช้ในการวัดประโยชน์ของโครงการที่มีคุณค่าทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้การวิเคราะห์และประเมินผลตอบแทนทางสังคมเป็นการแปลงผลของการใช้ทรัพยากรทั้งมวลในการดำเนินทุกกิจกรรมในโครงการเป็นมูลค่าที่สามารถวัดเป็นหน่วยเงินตราได้ สามารถประมาณค่าได้ว่างบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการนั้นสังคมได้รับผลตอบแทนเป็นมูลค่ามากน้อยเพียงใด และยังสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่าควรพัฒนาปรับปรุงการดำเนินโครงการในครั้งต่อไปอย่างไร เพื่อให้สังคมและกลุ่มเป้าหมายได้รับประโยชน์สูงสุด หรือควรจะยุติโครงการเพื่อนำไปจัดสรรให้โครงการที่ก่อให้เกิดผลตอบแทนทางสังคมที่เป็นรูปธรรมมากกว่า.