วันที่ 29 กันยายน 2566 เวลา 10.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมและรับทราบผลการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม พร้อมมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ณ ห้องประชุมอำพล สิงหโกวินท์ ชั้น 6 อาคารอำนวยการ สำนักงานประกันสังคม พร้อมเยี่ยมชมศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) ณ ชั้น 1 อาคารวิทุร แสงสิงแก้ว สำนักงานประกันสังคม โดยมีนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมให้การต้อนรับ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนภารกิจกระทรวงแรงงาน เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานภายใต้แนวคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ซึ่งในวันนี้ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งได้มาตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายรวมทั้งพบปะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ที่มีส่วนสำคัญในการดูแลให้ความคุ้มครอง เพื่อสร้างหลักประกันชีวิตแก่พี่น้องผู้ใช้แรงงานกว่า 24 ล้านคนทั่วประเทศ ถือเป็นภารกิจสำคัญที่ช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะสามารถให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน จากการขาดรายได้เมื่อต้องประสบปัญหาจากสถานการณ์ต่างๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ในวันนี้ ผมได้เน้นย้ำถึงนโยบายในการปฏิบัติภารกิจของสำนักงานประกันสังคมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ที่จะใช้ในการขับเคลื่อนงานประกันสังคมให้เข็มแข็ง เป็นที่ยอมรับ เชื่อมั่น และไว้วางใจ จากลูกจ้าง ผู้ประกันตนและสังคมโดยรวม ดังนี้
1. Micro Finance ลดหนี้ เติมทุน สร้างสุข เพื่อพัฒนาและยกระดับให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
2. กองทุนมั่นคง แรงงานมั่งคั่ง ประกันสังคมยั่งยืน โดยต้องบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส
และมีความยั่งยืน
3. Best e-Service ประกันสังคมยุคใหม่ สร้างความมั่นคง เพิ่มความมั่นใจ ยกระดับการให้บริการของสำนักงานประกันสังคม ผ่าน e-Service โดยการนำระบบ e-Claim มาใช้ในการให้บริการเบิก-จ่ายเงิน และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตน
4. สร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการคุ้มครองแรงงาน ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้มีความเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
5. การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการทางการแพทย์ ยกระดับการให้บริการทางการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค แก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตนโดยผู้ประกันตนต้องได้รับการบริการทางด้านสุขภาพอนามัย การรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นกว่าเดิม
6. จัดทำสิทธิประโยชน์ Package Premium สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 เช่น เพิ่มสิทธิกรณีเจ็บป่วย ชดเชยรายได้ตามค่าแรงขั้นต่ำ ค่าตอบแทนกรณีนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยอาจยกระดับให้เท่ากับผู้ประกันตนมาตรา 39 รวมทั้งการจูงใจให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง
ในการนี้ รมว.แรงงาน นายพิพัฒน์ ได้กล่าวฝากแนวทางปฏิบัติราชการเพิ่มเติม ว่า ขอให้ดำเนินการตามนโยบายที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา โดยให้ผู้บริหารผลักดันนโยบายให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว มีการบูรณาการการทำงานที่เป็นหนึ่งเดียวกับกระทรวงแรงงาน ทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ เพื่อผลักดันนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงแรงงานให้เป็นผลสำเร็จ โดยยึดประโยชน์สูงสุดของลูกจ้าง ผู้ประกันตนเป็นหลัก และขอให้ติดตามการทำงานของรัฐบาลและสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน รวมทั้งสำนักงานประกันสังคมต้องสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีธรรมาภิบาลเพื่อให้สาธารณชนได้มีความเชื่อมั่น และมั่นใจในระบบประกันสังคม
“ผมขอขอบคุณและให้กำลังใจในการทำงานของผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ที่มุ่งมั่นทุ่มเทเสียสละในการปฏิบัติงาน ขอให้มุ่งมั่น คิดดี ทำดี ในการขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางการทำงานที่สำคัญยิ่ง และผมขอยืนยันว่าจะรักษาสิทธิประโยชน์ให้พี่น้องแรงงานไทยทุกคน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป”
จากนั้นนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) ณ ชั้น 1 อาคารวิทุร แสงสิงแก้ว สำนักงานประกันสังคม พร้อมกล่าวกับสื่อมวลชนว่า กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมได้กำหนดให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน เป็นคณะกรรมในคณะกรรมการประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส กระทรวงแรงงานจึงได้ออกระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ.2564 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอความคิดเห็นเพื่อกำหนดนโยบายและการบริหารงานของกองทุนประกันสังคม และวางระเบียบการรับจ่ายเงินและจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนฯ ดังนั้น วิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพื่อรักษาผลประโยชน์อันสูงสุดของลูกจ้างผู้ประกันตน และความมั่นคงของระบบประกันสังคมไทย เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม จึงได้มีการดำเนินการจัดการเลือกตั้งฯ ดังต่อไปนี้
กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึงเวลา 16.00 น. เป็นวันเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง และที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดทั่วประเทศ โดยเปิดให้มีหน่วยเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งหน่วย โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ประกอบด้วยผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 และนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม โดยลูกจ้าง 1 คน และนายจ้าง 1 คน สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนได้ฝ่ายละ 7 คน ในการนี้ สำนักงานประกันสังคม จะเปิดให้นายจ้าง และผู้ประกันตน ที่มีสิทธิลงทะเบียนเลือกตั้ง โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ตามคุณสมบัติ ดังนี้
ผู้ประกันตน ต้องมีสัญชาติไทย ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนเดือนที่มีการประกาศให้มีเลือกตั้ง (เม.ย.2566) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนที่ประกาศเลือกตั้ง)
นายจ้าง มีสัญชาติไทย ขึ้นทะเบียนเป็นนายจ้างติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนเดือนที่มีประกาศให้มีเลือกตั้ง (เม.ย.2566) จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนที่ประกาศเลือกตั้ง) กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคลผู้จะใช้สิทธิต้องอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจ/กรณีเป็นผู้มีอำนาจในนิติบุคคลมากกว่า 1 นิติบุคคลต้องเลือกใช้สิทธิได้เพียงแห่งเดียว
สำนักงานประกันสังคม จะเปิดให้นายจ้างและผู้ประกันตนที่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง ทางเว็บไซต์ www.sso.go.th ในวันที่ 12 - 31 ตุลาคม 2566 และเปิดรับสมัครเลือกตั้ง ในวันที่ 25 – 31 ตุลาคม 2566
รมว.แรงงาน กล่าวในโอกาสได้มาตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 อาคารวิทุร แสงสิงแก้ว สำนักงานประกันสังคม โดยศูนย์ฯ นี้ มีหน้าที่ในการกำกับ ควบคุม ติดตามผลการปฏิบัติงานของคณะทำงานจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม และอำนวยความสะดวก ช่วยเหลือ ประสานงานระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง กับสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา รวมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งต่อนายจ้าง ผู้ประกันตน เจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม อันจะส่งผลให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง
02 ตุลาคม 2566
ผู้ชม 182 ครั้ง