ตามที่มีข่าวเกิดเหตุการณ์กราดยิงภายในห้างสรรพสินค้า สยาม พารากอน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เวลาประมาณ 16.20 น. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 2 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 5 ราย นั้นนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นางอุสนีย์ ศิลปศร ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม นายสุขสันต์ เจริญทวีโชค ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 4 นายสุรสิทธิ์ ศรีแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ เข้าเยี่ยมให้กำลังใจ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในครั้งนี้
นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บ จากเหตุการณ์กราดยิงในครั้งนี้ โดยได้มอบหมายให้ผมพร้อมผู้บริหารสำนักงานประกันสังคมเข้าเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมเร่งช่วยเหลือให้ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิการรักษาและเงินทดแทนที่ผู้ประกันตนพึงได้รับโดยเร็ว จากการตรวจสอบพบว่า มีผู้ประกันตนเสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บ 4 ราย โดย ผู้ประกันตนที่เสียชีวิต ชื่อ นางสาวเมา เมจิน ผู้ประกันตนมาตรา 33 ชาวเมียนมา เป็นลูกจ้างของ บริษัท เทค ทอยส์ จำกัด จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง โดยทายาทผู้เสียชีวิตจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน เป็นเงินค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท เงินทดแทนกรณีเสียชีวิตเดือนละ 10,500 บาท ระยะเวลา 10 ปี เป็นเงินจำนวน 1,260,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 1,310,000 บาท
ในการนี้ นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะ ได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมแนะนำสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บทั้ง 4 ราย ดังนี้
1. นายวิเชียร วิจิขากี เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน รับเงินทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เป็นเงินจำนวน 14,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
2. นางสาวเพ็ญพิวรรณ มิตรธรรมพิทักษ์ เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน รับเงินทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เป็นเงินจำนวน 9,087.17 บาทต่อเดือน ปัจจุบันเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
3. นางอัญพัชร์ ทิพย์จิระสกุล เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นจำนวนเงิน 2,400 บาท ปัจจุบันเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตำรวจ
4. นาง KHAMPHIOU KHAMSOMMPHOU เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ชาวลาว ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน รับเงินทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เป็นเงินจำนวน 6,424.60 บาทต่อเดือน ปัจจุบันเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน
นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า “กระทรวงแรงงานโดย สำนักงานประกันสังคม จะเร่งตรวจสอบพร้อมให้การช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกท่าน และขอให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมั่นใจ กองทุนเงินทดแทน และกองทุนประกันสังคม มีหน้าที่คุ้มครองให้ลูกจ้างและผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงมีโดยเร็วที่สุด”
06 ตุลาคม 2566
ผู้ชม 202 ครั้ง