วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่อง การส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรจากแรงงานอิสราเอลสู่การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ระหว่าง กระทรวงแรงงาน กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม พร้อมด้วย นางสาวภัทรันดา แสงมหะหมัด รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน และ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า
การลงนาม MOU ในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือช่วยเหลือแรงงานไทยภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในอิสราเอลซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ รวมทั้ง ขับเคลื่อนการพัฒนาแรงงานภาคการเกษตรให้มีความพร้อม เพื่อเข้าสู่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเกษตร หรือมีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร โดยความร่วมมือครั้งนี้มีระยะเวลา 2 ปี และมีเป้าหมายในการพัฒนาแรงงานภาคเกษตร 7,500 คน
“กระทรวงแรงงาน มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรจากแรงงานอิสราเอลสู่การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้เป็นหนึ่งในการดำเนินการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในอิสราเอลซึ่งเป็นผู้ที่มีทักษะด้านการเกษตร ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ โดยความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังจากหลายหน่วยงาน หลายฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมจำนวน 5 ฝ่าย
ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานนั้น ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีงานทำ แก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคงในชีวิต ตลอดจนการส่งเสริมทักษะแรงงาน เพิ่มขีดความสามารถ และขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจไทย ซึ่งรวมถึงแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศและได้รับทักษะต่างๆ กลับมาด้วย
“กระทรวงแรงงานจะร่วมพัฒนาแรงงานภาคการเกษตรกลุ่มนี้ให้พร้อมเข้าสู่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมเกษตร หรือมีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ซึ่งนับเป็นการร่วมยกระดับภาคการเกษตรของไทยด้วยความรู้ ประสบการณ์ และทักษะความชำนาญของแรงงานไทยที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่จากอิสราเอล ดังนั้น แรงงานไทยที่ไปทำงานภาคการเกษตรที่อิสราเอล หลายคนนอกจากจะสามารถเก็บเงินกลับมาบ้านได้แล้ว ยังนำประสบการณ์มาปรับใช้ และประกอบอาชีพได้ที่ประเทศไทยได้อีกด้วย” นายไพโรจน์ กล่าวท้ายที่สุด
09 พฤศจิกายน 2566
ผู้ชม 177 ครั้ง