เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ได้มีพิธีมอบแพะนมพระราชทานพันธุ์ชามี โดยนายเทอดศักดิ์ บุญยขจร ผู้แทนมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นผู้มอบแก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปศึกษาข้อมูลทางวิชาการ เพื่อพัฒนาขยายพันธุ์เพื่อส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎร โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ร่วมในพิธี
นายเทอดศักดิ์ บุญยขจร กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมูลนิธิชัยพัฒนาในการพัฒนาการเลี้ยงแพะในภาคใต้ มาจากพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิชัยพัฒนา ที่จะทรงส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้คณะทรัพยากรธรรมชาติดำเนินการศึกษาทดลอง ตั้งแต่ปี 2556 โดยเริ่มจากการเลี้ยงแพะเนื้อพันธุ์แบล๊คเบงกอล จำนวน 4 ตัว ส่วนแพะนมพันธุ์ชามีที่พระราชทานครั้งนี้ มีจำนวน 5 ตัว เป็นเพศผู้ 1 ตัว และเพศเมีย 4 ตัว นำมาจากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ ย้ายฝากตัวอ่อนและเซลสืบพันธุ์ กรมปศุสัตว์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้คณะทรัพยากรธรรมชาติเป็นผู้เก็บข้อมูลทางวิชาการ รวมทั้งพัฒนาขยายพันธุ์เพื่อส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย เช่น กรมปศุสัตว์ และ กรมชลประทาน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และหัวหน้าศูนยวิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก คณะทรัพยากรธรรมชาติ ได้กล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงเห็นความสำคัญของการเลี้ยงแพะซึ่งเป็นอาชีพหนึ่งของราษฎรในภาคใต้ โดยภารกิจของศูนย์วิจัยฯ ต่อจากนี้คือการศึกษาข้อมูลของแพะนมพันธุ์ชามี ว่าเหมาะสมที่จะนำมาส่งเสริมการเลี้ยงในภาคใต้หรือไม่ ให้ปริมาณน้ำนมเป็นอย่างไร โดยข้อมูลทั้งหมดจะนำรายงานยังมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งจะถวายรายงานต่อยังสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อทรงพิจารณา
“แพะนมพันธุ์ชามี มีลักษณะเด่นคือ ขนยาว สีน้ำตาล ตัวใหญ่ ใบหูปรกยาวเลยคาง ความพิเศษคือมีถิ่นกำเนิดในทะเลทรายแถบซีเรีย จอร์แดน ซึ่งทนความร้อนได้ดี ปริมาณไขมันในน้ำนมค่อนข้างสูง แต่ เนื่องจากแพะเพิ่งมาอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัย จึงต้องใช้เวลาในการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจะดำเนินการเพื่อใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพ เพื่อกระตุ้นการเป็นสัดของแม่แพะนมเพื่อการผสมพันธุ์โดยวิธีผสมจริง เพื่อศึกษาข้อมูลทางวิชาการ นอกจากนั้น กำลังจะศึกษาการใช้ประโยชน์ของใบ และกากเมล็ดมะรุมเพื่อใช้เป็นอาหารแพะต่อไป” รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าว
27 มิถุนายน 2561
ผู้ชม 720 ครั้ง