ดร.ไพบูลย์ ปะนาเส และทีมนักวิจัยสาขาวิชาการประมง คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ศึกษาการนำทรัพยากรธรรมชาติ เช่น หญ้าหรือวัชพืชที่ขึ้นตามป่ารกร้าง ตามข้างถนน ไร่ นา หาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยการนำพืชที่มีชื่อว่า “น้ำนมราชสีห์ (Euphorbia hirta)” มาศึกษาถึงความเป็นไปได้ ที่จะนำมาพัฒนาเป็นสารสกัดเพื่อใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยนำมาศึกษาในปลาดุกลูกผสม (ปลาดุกอุย x ปลาดุกเทศ) ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจที่นิยมนำมารับประทานอีกชนิดหนึ่ง โดยใช้เป็นตัวแทนชนิดของปลาที่ไม่มีเกล็ด ผลจากการศึกษาพบว่า สารสกัดที่ได้จาก น้ำนมราชสีห์ มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidant) เมื่อสัตว์น้ำไม่เกิดอาการเครียดก็ย่อมส่งผลต่อสุขภาวะที่ดี เจริญเติบโตดี รวมถึงเพิ่มอัตรารอดตาย ซึ่งความสำเร็จของการศึกษาในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ สามารถต่อยอดให้เกษตรกรหันมาใช้สารสกัดจากธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และมีราคาถูก มาใช้ทดแทนสารเคมี นับเป็นวิธีการหนึ่งที่ดีและเหมาะสม และที่สำคัญส่งผลต่อความมั่นใจถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์ของสัตว์น้ำ
การวิจัยในครั้งนี้ ร่วมดำเนินงานโดยทีมวิจัยที่เป็นนิสิตระดับปริญญาตรีสาขาวิชาการประมง 2 คน นักวิทยาศาสตร์ของสาขาวิชาการประมง มหาวิทยาลัยพะเยา 1 คน และยังบูรณาการร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นับว่าเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการนำสารสกัดจาก “ใบน้ำนมราชสีห์” มาประยุกต์ใช้ในสัตว์น้ำ เป็นการนำวัชพืชหรือพืชที่พบได้ทั่วไปมาเพิ่มคุณค่า โดยนำส่วนใบมาสกัดด้วยเอทานอล (Ethanol) เข้มข้น 50% หลังจากนั้นนำสารสกัดที่ได้ในระดับความเข้มข้น 300 มิลลิกรัม ต่อ อาหารปลาสำเร็จรูป 1 กิโลกรัม มาละลายน้ำและสเปรย์ลงไปในอาหาร หลังจากนั้นเคลือบด้วยสารละลายวุ้นทำขนม รอให้แห้ง แล้วนำไปให้ปลากิน ผลงานวิจัยดังกล่าว ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชื่อ Fisheries Science ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการประมงในระดับนานาชาติ ส่วนการศึกษาครั้งต่อไป ทีมนักวิจัยจะเร่งศึกษาทดสอบกับปลาเศรษฐกิจชนิดอื่น เช่น ปลานิล และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่พร้อมใช้กับสัตว์น้ำ จะทำให้มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจทางการประมงในอนาคตต่อไป
07 สิงหาคม 2561
ผู้ชม 746 ครั้ง