งานวิจัยชุดโครงการ “นวัตกรรมเพื่อการทำฟาร์มกวางสมัยใหม่” (Innovation for Modern Deer Farming) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง คว้ารางวัล Platinum Award ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้รับมอบถ้วยพระราชทานจากพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และรับเงินรางวัล 120,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร จาก ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 (Thailand Research Expo 2018) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2561 ณ ห้องคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์
โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีม.ร. กล่าวว่า รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของประเทศ ในการที่ทำให้งานวิจัยเกิดประโยชน์แท้จริงกับคนทั่วไป ถือเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของทีมงานและชาวรามคำแหงทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการวิจัยเรื่อง “นวัตกรรมเพื่อการทำฟาร์มกวางสมัยใหม่” ซึ่งเป็นการนำนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาฟาร์มกวางให้ทันสมัยอย่างครบวงจร ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกวางได้รับประโยชน์และสร้างรายได้ในเชิงเศรษฐกิจ
“มหาวิทยาลัยรามคำแหง มุ่งสร้างองค์ความรู้ใหม่จากการวิจัยเพื่อให้กวางเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ของสังคมไทย เพราะทุกส่วนของกวางสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ประกอบธุรกิจทางด้านนี้อย่างแท้จริง”
ทั้งนี้ การพิจารณาคัดเลือกผลงานจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในปีนี้ รางวัล Platinum Award จำนวน 2 รางวัล ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล จำนวน 120,000 บาท และเกียรติบัตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
สำหรับ งานวิจัยชุดโครงการ “นวัตกรรมเพื่อการทำฟาร์มกวางสมัยใหม่” (Innovation for Modern Deer Farming) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ เป็นการบูรณาการงานวิจัยด้านนวัตกรรม เครื่องเมือเพื่อการบริหารจัดการฟาร์มกวางสมัยใหม่อย่างครบวงจร ช่วยต่อยอดองค์ความรู้เดิม และเป็นฐานรากคอยให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ สนับสนุน และต่อยอดให้เกษตรกรเครือข่าย ได้พัฒนาประสิทธิภาพการทำฟาร์มกวาง เสริมสร้างรายได้ที่ยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยได้เริ่มก่อตั้งฟาร์มกวางตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันวิจัยสัตว์ในภูมิภาคเขตร้อน มีการทำงานเกี่ยวกับด้านข้อมูลการวิจัยพื้นฐานมาโดยตลอด ปัจจุบันได้ประยุกต์ข้อมูลเหล่านั้นให้กับเกษตรกร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงกวางเป็นสัตว์เศรษฐกิจมากขึ้น และได้นำนวัตกรรมที่เกิดจากงานวิจัยถ่ายทอดให้กับเกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้า และลดต้นทุนในการทำธุรกิจฟาร์มกวาง
ภายในชุดงานวิจัยนี้ ได้บูรณาการงานวิจัยต่างๆ เข้าด้วยกัน ได้แก่ โครงการ “การใช้คุณค่าทางโภชนาการกับสัณฐานวิทยาของเขากวางอ่อนในระบบสามมิติ เพื่อกำหนดต้นทุนมาตรฐานเขากวางอ่อน” เพื่อให้เกษตรกรเกิดการซื้อขายเขากวางอ่อนในราคาที่ยุติธรรม โครงการ “การพัฒนาโรงเรือนจัดการกวางเคลื่อนที่” ให้บริการตัดเขากวางแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกวาง เพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิตโรงเรือนจัดการกวาง โครงการ “พืชอาหารสัตว์สำหรับฟาร์มกวางสมัยใหม่” ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น หญ้าเนเปียร์ และส่งกลับมาจำหน่ายให้กับฟาร์มกวาง ม.ร. ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน โครงการ “การประยุกต์ใช้เซลล์แสงอาทิตย์ สำหรับจ่ายพลังงานไฟฟ้าในฟาร์มกวาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง” เป็นการนำแผ่นโซล่าเซลล์มาติดตั้งในฟาร์มกวาง ซึ่งช่วยลดค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้เป็นจำนวนมาก โครงการ “นวัตกรรมจากมูลกวางภายใต้ความคิดของเสียเป็นศูนย์” เป็นการนำมูลกวางมาทดแทนดินลูกรังในการก่อบล็อกประสาน ซึ่งถือเป็นการนำของเสียเหลือใช้ในฟาร์มกวางมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างได้ด้วย และโครงการ “การพัฒนาเนื้อดินปั้นเซรามิกจากเขากวางแข็ง” โดยนำเอาส่วนตอของเขากวางที่หลุดหลังจากการตัดเขาแล้วมาเป็นส่วนผสมในการทำเซรามิก รวมทั้งมีการทำเครื่องประดับจากเขากวางแข็ง และนำมูลกวางมาเลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ในโครงการ “แปรรูปผลิตภัณฑ์จากกวาง” เพื่อให้เกษตรกรได้ทำธุรกิจฟาร์มกวางได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
17 สิงหาคม 2561
ผู้ชม 920 ครั้ง