พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เรื่องการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับความพร้อมของกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม โดยมอบให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรในสาขาวิชาต่าง ๆ รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เป็นอุตสาหกรรม 4.0 และ 10 อุตสาหกรรมหลักใน EEC ซึ่งได้มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ ผ่านศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งประกอบด้วย 3 ศูนย์หลัก คือ วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคนิคบางแสน และวิทยาลัยเทคนิคระยอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล และเพิ่มขีดความสามารถของครูผู้สอนเพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งหัวใจหลักในกระบวนการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษาจะต้องมีครูพิเศษในสถานประกอบการ มาสนับสนุนกระบวนการจัดการเรียนการสอน จึงได้จัดให้มีการขึ้นทะเบียนครูพิเศษ อาชีวศึกษาอุตสาหกรรม 4.0 และ 10 อุตสาหกรรมใน EEC ขึ้น ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
พลเอก สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า “งานวันนี้ถือว่าเป็นการทำงานที่ก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในการเชิญผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ ทางด้านอุตสาหกรรม 4.0 ในพื้นที่ของ EEC ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาไปแล้วในเขตพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่แรกและมีความก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ ล่าสุดได้มีการประสานงาน ขับเคลื่อนการบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทีดีอาร์ไอ เพื่อนำข้อมูลที่เป็นดีมานด์ไซด์ มาร่วมกันพิจารณาเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งเรื่องการผลิตและพัฒนากำลังคน หรือวางแผนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการในมิติต่าง ๆ ซึ่งในวันนี้ได้เชิญผู้ที่มีความเชี่ยวชาญจำนวน 20 ท่าน มาเป็นครูพิเศษ เพื่อช่วยจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษา ให้ข้อแนะนำต่าง ๆ และจะมีภาคขยาย มีเป้าหมายว่าในเดือนกันยายน ครูพิเศษ 20 ท่านแรกจะไปรณรงค์เชิญชวนให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ให้ได้ 100 คน และปลายปีเพิ่มเป็น 500 คน ซึ่งสามารถขยายได้ทั่วทั้งพื้นที่ใน EEC ภาคตะวันออกและภาคต่าง ๆ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงครูพิเศษที่มีความชำนาญ มีทักษะวิชาชีพ ได้บรรยายถ่ายทอดการสอน และมีโรงงานซึ่งเปรียบเสมือนสถานศึกษา ที่ทำงานร่วมกันในรูปแบบทวิภาคี ทำให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนโดยเฉพาะการมีผู้เชี่ยวชาญในภาคเอกชนมาเสริม มาช่วยการทำงานของภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องของกลไกประชารัฐทำให้การทำงานมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
ด้าน ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ในนามสภาอุตสาหกรรม จังหวัดชลบุรี ได้รับเกียรติจากกระทรวงศึกษาธิการให้ทำหน้าที่ครูพิเศษ ถือเป็นโอกาสดีที่นักศึกษาส่วนใหญ่ได้เรียนภาคทฤษฏีในสถานศึกษา และผู้ประกอบการมาเสริมในภาคปฏิบัติที่จะช่วยเสริมสร้างให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจลึกซึ้งในเรื่องที่เรียนมากยิ่งขึ้น สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี พร้อมให้การสนับสนุนโครงการนี้ และนำแนวคิดของพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปขยายผลต่อไป
นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการพัฒนาประเทศและกำลังคนอาชีวศึกษา ให้ก้าวเข้าสู่โลกอนาคต เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง ให้กับการพัฒนาการศึกษาสายวิชาชีพ หรืออาชีวศึกษา เพื่อเป็นการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไป
30 สิงหาคม 2561
ผู้ชม 584 ครั้ง