เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา นางเรืองรัตน์ วงศ์ปราโมทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา และนางสาวสุวีณา เกนทะนะศิล ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พร้อมคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและประชุมเสวนาเพื่อติดตาม ตรวจสอบ การประเมินผลการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 โดยมี นายมิตรชาย ดำดี ผู้อำนวยการโรงเรียนพระราชทานบ้านเกาะพีพี และโรงเรียนบ้านแหลมตง จังหวัดกระบี่และนางสาวนิติพร พุ่มกอ ครูประจำกลุ่มการศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เกาะพีพี ให้การต้อนรับ
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวภายหลังจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลว่า ในการจัดการศึกษาของประเทศไทยโดยเฉพาะของกระทรวงศึกษาธิการ เราได้ยึดกรอบยุทธศาสตร์ชาติเป็นหลักยุทธศาสตร์ที่สำคัญอันหนึ่งที่ได้พิจารณาคือ ยุทธศาสตร์ในการสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ในการดำเนินการสู่ยุทธศาสตร์นี้ได้ดำเนินการหลายแนวทาง หลายคนมองว่า การที่จะสร้างความเข้มแข็ง ทำให้ประเทศชาติมีการแข่งขันได้จะเน้นในเรื่องของการวิจัย เน้นในเรื่องของการที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเข้มแข็ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่ประเทศของเราจะมีความเข้มแข็งได้ จำเป็นต้องสร้างศักยภาพทุกภาคส่วน
ในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษานอกระบบเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่เราต้องสร้างคนของเราพร้อมให้มากที่สุดในเรื่องการแข่งขัน ซึ่งสิ่งที่เราทำ คือ การที่จะสร้างให้กลุ่มเป้าหมายของเรา ทั้งผู้เรียนของการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกระดับ รวมถึงการศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ให้มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ สามารถที่จะวิเคราะห์ปัญหา สร้างนวัตกรรมในการแก้ปัญหาได้ ตรงนี้เป็นพื้นฐานสำคัญในการที่จะส่งต่อสู่ระดับอาชีวะและระดับอุดมศึกษาที่จะมีกำลังคนที่เข้มแข็งและสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศได้
อย่างไรก็ตาม พื้นที่พิเศษในหลายพื้นที่ พื้นที่ชายแดน พื้นที่ท่องเที่ยวทั้งหลาย ก็เป็นกลุ่มเป้าหมายที่กระทรวงศึกษาธิการจะดูแลเป็นพิเศษ เช่น เกาะพี พี เป็นพื้นที่พิเศษที่แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาปีละหลายล้านคน เราจำเป็นต้องสร้างคนเกาะพีพี ให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งการที่คนเกาะ พี พี มีความพร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างการศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ เป้าหมายของโรงเรียนที่เกาะพี พี เราดำเนินการทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ คือ การที่จะทำให้เด็กของเรา มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา สามารถทำงานกับคนที่อยู่ต่างวัฒนธรรมได้ และมีพื้นฐานที่สำคัญคือ พื้นฐานด้านภาษาและในเรื่องของการที่จะเข้าใจต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว
นายมิตรชาย ดำดี ผู้อำนวยการโรงเรียนพระราชทานบ้านเกาะพีพี และโรงเรียนบ้านแหลมตง กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนพระราชทานบ้านเกาะพีพี เป็นโรงเรียนขนาดกลาง จัดการเรียนการสอนระดับอนุบาล 1-ม.3 มีนักเรียน 167 คน ครูทั้งหมด 11 คน ครูอัตราจ้าง 1 คน เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา มีวิถีชีวิตบนพื้นฐานความพอเพียง มีความเป็นไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการแบบทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม สร้างทักษะหลายรูปแบบไม่สร้างไอคิวเพียงอย่างเดียว เนื่องจากชุมชนนี้มีวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบมาก อาทิ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น เน้นทักษะของอาชีพ ทักษะการดำเนินชีวิตอย่างไร ให้มีคุณภาพบนพื้นที่บนเกาะ เน้นการบริหารงานแบบทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เน้นบริบทความเป็นโรงเรียนของเกาะพีพี ซึ่งในเรื่องของเทคโนโลยี มองว่าทำอย่างไรการศึกษายุคปัจจุบัน โดยเฉพาะโรงเรียนที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ต้องเพิ่งพาในเรื่องของเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์กับการเรียนการสอนเป็นสำคัญ
ผู้อำนวยการโรงเรียนพระราชทานบ้านเกาะพีพี กล่าวเพิ่มเติมว่า นักเรียนที่จบการศึกษามัธยมศึกษา 3ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ไปศึกษาต่อที่ภูเก็ต ทางโรงเรียนมีความต้องการให้นักเรียนสื่อสารภาษาอังกฤษได้ตามช่วงวัยเด็ก ขณะนี้ได้นิเทศครูทั้งหมด ต้องบูรณาการวิชาภาษาอังกฤษในทุก ๆ วิชา และให้รู้จักคำศัพท์และใช้ภาษาอังกฤษให้มากที่สุด โดยการให้เด็กมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ไปฝึกประสบการณ์ตรงกับผู้ประกอบการโรงแรมและทัวร์ในวันศุกร์ เป็นเวลา 2 ชั่วโมง จากการสอบถามข้อมูลจากผู้ประกอบการและผู้ปกครอง ทางโรงเรียนได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง นอกจากนี้ มีการใช้ประโยชน์จากโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครู ส่วนโรงเรียนบ้านแหลมตง ตั้งอยู่ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีครูผู้สอน จำนวน 4คน และนักเรียน 31 คน ส่วนมากเป็นลูกชาวเล
นางสาวนิติพร พุ่มกอ ครูประจำกลุ่ม กศน.เกาะ พีพี บอกว่า นักศึกษาที่นี่มีไม่เยอะ ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาวัยทำงาน อายุตั้งแต่ 15-40 กว่าปี เนื่องจากเวลาในการเรียนมีน้อยส่วนใหญ่มีงานทำแล้ว ซึ่ง กศน. ที่นี่ได้จัดการเรียนการสอนที่โรงแรม พีพี คาบาน่า โดยทางโรงแรมได้ให้การสนับสนุนในการให้ใช้ห้องเรียนเรียนหนังสือทุกวันพุธ ตั้งแต่เวลา 17.00 น.-19.00 น. ปัญหาที่พบในการเรียน คือ นักศึกษาบางคนไม่ค่อยได้มาเรียน ครูจึงสรุปความรู้เป็นพาวเวอร์พ้อยท์ให้ โดยระยะเวลาในการเก็บชั่วโมงเรียนภายใน 1 ปีการศึกษา ต้องใช้เวลา 200 ชั่วโมงจึงจะจบการศึกษา ทั้งนี้ ครูได้แก้ปัญหาสำหรับนักศึกษาที่ไม่ค่อยมีเวลาเรียน โดยการจัดทำโครงการเพื่อที่จะเก็บชั่วโมงให้นักศึกษาได้เรียนจบตามที่หวัง
12 กันยายน 2561
ผู้ชม 1008 ครั้ง