สาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้จัดการเรียนการสอนโดยบูรณาการกับการบริการวิชาการ โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักศึกษาลงพื้นที่ช่วยชุมชนพัฒนาสินค้า ในจังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครนายก และจังหวัดสระแก้ว โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์พิมพา หิรัญกิตติ เผยว่า สำหรับการเรียนการสอนวิชา WIL คือการบูรณาการในรายวิชา ได้แก่ วิชาการบริหารการค้าปลีก วิชาการบริหารการตลาด วิชาการบริหารการขาย และวิชาการตลาดลูกค้าสัมพันธ์ ได้จัดแผนการเรียนสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป ในการลงพื้นที่นักศึกษาสามารถนำความรู้ที่ได้จากทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสินค้าของกลุ่มชุมชน ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์, การออกแบบบรรจุภัณฑ์, การใช้เครื่องมือการติดต่อสื่อสารการตลาด (Integrated Marketing -IMC) และการทำตลาดดิจิตอล ยกระดับสินค้าของวิสาหกิจชุมชนออกสู่ตลาด และได้มอบหมาย ให้นักศึกษาเขียนแผนการตลาด การวิเคราะห์สถานการณ์ทางการตลาด วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค กำหนดกลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์การแข่งขัน รวมถึงการศึกษาส่วนประสมทางการตลาด เป็นการใช้สถานการณ์จริงในการเรียนและทำให้นักศึกษามีทักษะและมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น
นอกจากความรู้ที่นักศึกษาได้นำไปใช้ในการปฏิบัติงานจริง นักศึกษายังได้เรียนรู้ถึงความเป็นอยู่ ปลูกฝังในเรื่องของจิตอาสาในการช่วยเหลือชุมชน แลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งความรู้เหล่านี้หาไม่ได้ในห้องเรียน สำหรับสวนเราเกษตรอินทรีย์ ตำบลบึงบา อำเภอหนองเสือ จังหวัด ปทุมธานี เป็น 1 ในชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ในการทำข้าวไรซ์เบอรี่ และผักอินทรีย์ โดยนักศึกษาได้ลงพื้นที่ช่วยเกษตรกรในการพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การทำการตลาดออนไลน์ และได้รับคำชื่นชมจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก ถือเป็นเป้าหมายที่สาขาวิชาการตลาดได้กำหนดไว้ในการเรียนการสอนของรายวิชา WIL
“มะพร้าว” นางสาวณัชชา สร้อยสมยา เล่าว่า “จินตนาการไม่สำคัญเท่าลงมือทำ” มีความสุขที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือชุมชน ได้นำความรู้ที่ได้เรียนจริงในห้องเรียน มาปรับใช้เพื่อช่วยเหลือชุมชน ได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน ซึ่งมหาวิทยาลัยกับชุมชนเปรียบเสมือนเพื่อนบ้านที่ต้องช่วยเหลือและพึ่งพากัน ทำให้มหาวิทยาลัยและชุมชนเติบโตไปพร้อมกัน จากการลงพื้นที่พูดคุยกับเจ้าของสวนเกษตร ในการสัมภาษณ์และแลกเปลี่ยนทำให้ทราบปัญหาคือ ต้องการบรรจุภัณฑ์ การประชาสัมพันธ์ และการตลาดให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะทางออนไลน์ จากโจทย์ที่ได้รับจึงนำมาประชุมภายในกลุ่มและแบ่งงานกันทำ
“ฟ้าใส” นางสาวศศิธร พูลสวัสดิ์ เล่าว่า ตนเองรับผิดชอบในการจัดทำโบรชัวร์แนะนำสถานที่และการทำวิดีโอประชาสัมพันธ์ สื่อเหล่านี้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย จึงอยากทำ เพื่อเป็นการจูงใจผู้บริโภคในการซื้อข้าวไรซ์เบอรี่ “การเรียนที่ดีคือการเรียนรู้ที่สามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้” การเรียนรู้ในห้องได้ความรู้จริงแต่มีน้อยคนมากที่จะสามารถนำไปปฏิบัติและลงมือทำจริงได้ การที่ได้ลงพื้นที่ทำให้ได้ลงมือทำและฝึกแก้ไข นำความรู้และเทคนิคที่ได้เรียนมาใช้
“แม็ค” นายกิตติภพ กัญญาพันธุ์ เล่าว่า ได้เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่จากชาวสวน การลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้เรียนรู้สถานการณ์และสภาพแวดล้อมจริง ต่างจากที่เรียนในห้องเรียนถึงแม้ว่าจะเปิดโอกาสในจินตนาการหรือค้นหาตามสื่อต่างๆ แต่ก็ไม่เทียบเท่ากับการเรียนแบบลงมือทำจริง ฝึกการแก้ปัญหา ซึ่งตนเองรับผิดชอบทางด้านการตลาด ได้เรียนรู้การนำสินค้ามาจำหน่ายจริง ต้องมีการออกบูทจริงนำสินค้ามาจำหน่ายจริง ทราบถึงขั้นตอนการตลาดและฝึกการแก้ปัญหา ดีใจที่ได้ช่วยชาวสวนในครั้งนี้ “การเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ที่สามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้”
“เอิร์ท” นายพัชรพล ลีศุภนานนท์ เล่าว่า ได้เรียนรู้การทำนาข้าวไรซ์เบอรี่ สีข้าว ตลอดจนการบรรจุถุงข้าว เป็นวิถีชีวิตที่ตนเองไม่เคยทำมาก่อน ถ้าไม่ได้สัมผัสจะไม่ความรู้ทางด้านนี้ นอกจากการเข้าไปช่วยเหลือทางด้านการตลาดแล้ว ตนเองและเพื่อนๆ ยังช่วยปรับทัศนียภาพภายในสวนเกษตรอินทรีย์ การเรียนและการได้ลงมือปฏิบัติไปด้วย เป็นการพัฒนาศักยภาพของตนเอง เมื่อจบไปสามารถนำความรู้ไปใช้งานได้จริง “ประสบการณ์ที่ดีคือการที่ได้ลงมือทำควบคู่การเรียน”
นายวัฒนา กิตติวัธนา และนายผจญ หวังชม เกษตรสวนเราเกษตรอินทรีย์ ตำบลบึงบา อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เล่าว่า รู้สึกดีใจที่ยังมีคนรุ่นใหม่สนใจในการทำสวน และสอบถามถึงการทำเกษตร ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่ยังมีคนสนใจในการทำเกษตรกรรม สำหรับเรื่องการทำบรรจุภัณฑ์และสื่อประชาสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องที่ดีและแปลกใหม่สำหรับยุคคนแก่ ซึ่งเท่าที่ได้แชร์ให้เพื่อนๆในกลุ่มต่างให้การยอมรับและสนุกสนานทุกคน ต้องขอขอบคุณนักศึกษา ที่ทำให้คนแก่ๆอย่างพวกเราได้หัวเราะและหยอกล้อกันได้ ขอบคุณครับ นอกจากนี้นักศึกษายังเข้ามาช่วยในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ และการตลาดในการขายไรซ์เบอรี่ และทำให้สวนสวนเราเกษตรอินทรีย์เป็นที่รู้จัก
สำหรับสวนเราเกษตรอินทรีย์ ตำบลบึงบา อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เป็นชุมชนตัวอย่างที่นักศึกษาสาขาการตลาด คณะบริหารธุรกิจได้ลงพื้นที่ นำกระบวนการเรียนการสอนวิชา WIL ไปใช้พัฒนาต่อยอดสร้างอย่างยั่งยืน โดยในวันที่ 20 ตุลาคม 2561 มีการออกบูทแสดงและจักจำหน่ายสินค้าวิสาหกิจชุมชน และชุมชนที่ได้ลงพื้นที่ ในงาน Marketing Day 2018 ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ผู้สนใจเข้าร่วมชมงาน สอบถามรายละเอียดได้ที่สาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ โทร 0-2549-4818
10 ตุลาคม 2561
ผู้ชม 453 ครั้ง