โครงการแสดงผลงานศิลปนิพนธ์ออกแบบนิเทศศิลป์ครั้งที่ 24 ดำเนินงานต่อเนื่องจากปี 2559 ที่ทางสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปนิพนธ์ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยการบูรณาการความรู้ทางการออกแบบนิเทศศิลป์ในการแก้ปัญหาด้านการออกแบบสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดนครปฐมและจังหวัดในภูมิภาคตะวันตก
นิทรรศการศิลปนิพนธ์ ครั้งที่ 24 โดยคณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม(มรน.) "ทำดี sign : ธรรมชาติดี ปฏิบัติดี ออกแบบดี" โดยได้รับเกียรติจาก นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เป็นประธานพิธีเปิด พร้อมด้วย ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และคณะผู้บริหาร อาจารย์ แขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการฯ โดยนักศึกษา สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 -19 พฤศจิกายน 2561 ณ บริเวณลานชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา ศาลายา
ผลงานของนักศึกษาในปีนี้ ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปนิพนธ์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โจทย์ปัญหาความต้องการจากชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดนครปฐมตามพื้นที่ยุทธศาสตร์ NPRU Reprofile ของมหาวิทยาลัย จำนวน 6 พื้นที่ ได้แก่ เกาะลัดอีแท่น ดอนข่อย คลองนกกระทุง วัดแค วัดละมุด และโพรงมะเดื่อ ที่ผ่านกระบวนการวิจัยในการแสวงหาความรู้ มาสู่กระบวนการออกแบบจัดแสดงภายใต้แนวคิด “ทำ.ดี.ไซน์” ซึ่งหมายถึงการออกแบบสิ่งที่ดี ๆ ปฏิบัติเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชน
ดร.ปิยะวรรณ ปิ่นแก้ว ประธานหลักสูตรสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เปิดเผยว่า นิทรรศการดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ได้มีโอกาสแสดงผลงานออกสู่สายตาบุคคลภายนอก รวมทั้งเป็นการแนะนำสาขาวิชาให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งนักศึกษาจะต้องใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์จากการศึกษาตลอดหลักสูตร 4 ปี ประกอบกับการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน และเสนอผลงานต่อสาธารณชน เป็นการเพิ่มพูนทักษะของนักศึกษา โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ และความพร้อมในการสร้างสรรค์ผลงานการบริหารการจัดการการนำ เสนอผลงาน และการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างสรรค์ อันจะส่งผลให้เป็น บัณฑิตนักปฏิบัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมที่มีคุณภาพต่อไป
ประธานหลักสูตรสาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ กล่าวว่า สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ เป็นวิชาที่ประมวลผลความรู้ของนักศึกษา ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-ชั้นปีที่ 4 ก่อนที่นักศึกษาจะจบการศึกษา จากการที่ทางหลักสูตรจัดงานมาทั้งหมด 24 ครั้ง ปีนี้พิเศษกว่าครั้งก่อนตรงที่ เราใช้โจทย์ปัญหาความต้องการจากชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดนครปฐม ตามพื้นที่ยุทธศาสตร์ NPRU Reprofile ของมหาวิทยาลัย จำนวน 6 พื้นที่ มาบูรณาการตามยุทธศาสตร์ย่อยของแต่ละคัสเตอร์ทั้ง 6 คัสเตอร์ โดยได้นำนักศึกษาไปลงพื้นที่ เพื่อให้เขาดูว่าประเด็นอะไรบ้างที่เขาสนใจ ซึ่งเป็นปัญหาที่มหาวิทยาลัยต้องดูแลอยู่แล้ว เมื่ออาจารย์บอกนักศึกษาว่า อะไรบ้างที่ศิลปะเข้าไปช่วยแก้ไขได้ ช่วยซัพพอร์ตได้ นักศึกษาจึงได้ดึงจากตรงนี้มาเป็นโครงการศิลปนิพนธ์ เพื่อให้นักศึกษาได้ทำงาน ความพิเศษ คือ ให้นักศึกษาได้ปฏิบัติงานจริง การทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนกับชาวบ้าน สิ่งที่เกิด คือ การเรียนรู้ วิชาที่นักศึกษาเรียนอยู่ในห้อง เทียบไม่ได้กับการที่พวกเขาต้องไปพูดคุยกับชุมชน พูดถึงความความต้องการ ต้องไปบอกว่า จริงๆ แล้วเขาต้องการอะไร และตัวเด็กจะทำอะไรได้บ้าง
สิ่งที่นักศึกษาเรียนเป็นลำดับแรกคือ ระเบียบวิจัย สอนในเรื่องของเชิงวิจัย การสืบค้นข้อมูลทางศิลปกรรม โดยนักศึกษาเริ่มคิดประเด็นหัวข้อ ซึ่งการภาคสนาม คือ การลงพื้นที่ชุมชนไปหาความต้องการ พร้อมกับพัฒนาแบบร่างทำงานคู่ขนานไปกับการดูแลอาจารย์ที่ปรึกษา การใช้กรรมการของสาขาเอง การให้ชุมชนตรวจทานข้อมูล ชุมชนต้องเป็นคนให้ข้อมูลเรา เพราะบางอย่างเราไม่มีความรู้ เช่น ภาษานี้ถูกไหม อ่านออกเสียงถูกไหม เรื่องเล่าตำนานถูกไหม ชุมชนจะเป็นคนบอกเรา เป็นการบูรณาการร่วมกัน
ในเรื่องของการดำเนินงาน เราจะถอดอัตลักษณ์ของชุมชน โดยมีนักศึกษาไปเก็บข้อมูล ปรากฏว่า เราสามารถถ่ายทอดเรื่องเล่าที่เป็นอัตลักษณ์ชุมชน ผ่านวิถีชีวิตชุมชนได้ มันจะออกเป็นภาพที่สามารถไปพัฒนาโปรดักส์ เป็นของที่ระลึกชุมชนได้เป็นอย่างดี
เกาะลัดอีแท่น เป็นการท่องเที่ยวที่ 1 ใน 50 แห่งห้ามพลาด ฉะนั้น โอกาสที่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในชุมชนเขา แค่มีคนเห็นโอกาส เขาสามารถ เอาสิ่งที่เราทำอยู่เป็นต้นแบบไปพัฒนาต่อยอดได้อีก แต่ถ้ามันไม่เกิดอะไรขึ้นเลย สิ่งที่ได้คือ การบูรณาการความรู้ การที่เขารู้จักคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ อะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ เราถอดแม้กระทั่งตัวภาพ สี Keyword ที่เขาไปดูมา ทุกอย่างที่เป็นวิถีชีวิต เป็นกำไรของชุมชน มันเป็นเรื่องของทฤษฎีของการออกแบบ บวกกับโจทย์ชุมชนแล้วหลายอัน มายุบเป็นชุมชนเดียว เช่น นักศึกษาทำการถ่ายทอดโมทีฟ อัตลักษณ์ ทำเป็นโปรดักส์ที่ระลึกมีการพัฒนาในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่แตกไลน์
เกาะลัดอีแท่น ชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ คนในชุมชน โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีความโดดเด่นในเรื่องของผลผลิตทางการเกษตร ด้วยความเข้มแข็งของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิต เชิงเกษตรกรรม วัฒนธรรมที่มีความน่าสนใจ
คุณลือไชย มีกุล ผู้นำชุมชนเกาะลัดอีแท่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมเข้ามาช่วยชุมชน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่าง ๆ มากมาย อาทิ ทำให้คนรู้จักเกาะลัดอีแท่นมากขึ้นจากการท่องเที่ยว
การออกแบบหนังสือมีชีวิตชุด “คนเกษตร”เพื่อเผยแพร่วิถีชีวิตอินทรีย์กลุ่มเกษตรกรเกาะลัดอีแท่น จังหวัดนครปฐม ,มหาวิทยาลัยมาช่วยเรื่องการออกแบบภาพประกอบนิทานวิถีชีวิตชุมชนบางเตย เรื่องเด็กชายกับสายน้ำ,การศึกษาอัตลักษณ์ชุมชนเกาะลัดอีแท่น เพื่อออกแบบเรชศิลป์และของที่ระลึกส่งเสริมการท่องเที่ยว
ชุมชนโพรงมะเดื่อ
โพรงมะเดื่อ ชุมชนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งอาศัยอยู่ มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอย่างเหนียวแน่น จึงทำให้ชุมชนมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น คนในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมและมีวิถีภูมิปัญญาชาวบ้านที่ช่วยสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง
นางจิตโสภา สุจริตจิตร หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า หน่วยงานเราเข้ามาดูแลกลุ่มตั้งแต่จัดตั้งฟื้นฟูโดยการให้ป้า ๆ ในชุมชนมารวมกลุ่มกันและทางจังหวัดส่งอาจารย์มาให้การสนับสนุนโดยการส่งเครื่องมือและอุปกรณ์จึงทำให้เกิดผลงานขึ้นมา ส่วนมหาวิทยาลัยมาช่วยเรื่ององค์ความรู้ ทำสื่อประชาสัมพันธ์ ทำแผ่นพับสวยงาม และเพิ่มมูลค่าด้านของที่ระลึกให้ดีขึ้น
การทอผ้า ถือเป็นหัตถกรรมที่สืบทอดต่อกันมานาน ต้องอาศัยความชำนาญและความสามารถในการใช้สีให้เกิดความสวยงาม โพรงมะเดื่อได้ฟื้นฟูหลังจากที่ห่างหายไป มี “ดอกมะเดื่อ” เป็นลายประจำชุมชน เราเป็นชุมชนเล็ก ๆ แต่วัฒนธรรมเราสืบต่อมาจากประวัติศาสตร์ปีที่ 149 ที่เราชำระประวัติศาสตร์ ซึ่งขณะนี้ทางรัฐบาลได้ทำอยู่แต่ยังไม่ถึงชุมชนเล็ก ๆ ส่วนทางจังหวัดก็ช่วยโครงการ SME สตาร์อัพ จึงได้นำผลงานมา เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัด
นางสาวจินดารัตน์ คุ้มภักดี นักศึกษาปี 4 สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม บอกว่า ดิฉันได้เข้าไปศึกษาว่า ชุมชนโพรงมะเดื่อมีอะไรน่าสนใจ และลาวครั่งก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่น่าสนใจ เพราะ เป็นชาวลาวที่อพยพเข้ามาและเป็นชาวลาวที่นำวัฒนธรรมของเขาเข้ามาที่ไทย ทำให้ชุมชนนี้เหมือนกับว่า อนุรักษ์ความเป็นลาวคลั่งไว้ จากรุ่นสู่รุ่นได้มีการเก็บข้อมูลไว้
ดิฉันเรียนออกแบบมา ถนัดด้านอินโฟกราฟิก เป็นการย่อยข้อมูลที่เยอะ ๆ ให้สั้นลงและเข้าใจง่าย เข้าถึงบุคคลได้ง่าย เพราะว่า สื่ออินโฟกราฟิกเป็นโปสเตอร์ได้ ลงโซเชียลให้คนพบเห็นมากมายได้ ชช และได้การออกแบบสื่ออินโฟกราฟิกวิถีชาติพันธุ์ลาวครั่งบ้านนา ตำบลโพรงมะสสเดื่อ จ.นครปฐม ,การออกแบบอินโฟกราฟิกการสังเกตอาการเบื้องต้นและวิธีการป้องกันการติดเชื้อวัณโรคสำหรับชาวบ้านตำบลโพรงมะเดื่อ จังหวัดนครปฐม ทำให้ชุมชนได้พัฒนาหรือขยายความรู้เกี่ยวกับลาวครั่งให้คนอื่นสนใจได้มากขึ้น
“การจัดนิทรรศการที่เซ็นทรัล ศาลายา จัดมาเป็นครั้งที่ 2 สิ่งที่ภูมิใจคือ ปีที่แล้วในการจัดงานของเรานักศึกษาได้งานทำที่นี่ เพราะ ผู้เยี่ยมชม เห็นความสามารถเด็กตรงไหนก็จะติดต่อให้ไปทำงานตรงกับความสามารถของนักศึกษา การออกมาจัดนิทรรศการลักษณะนี้ ทางสาขาจะให้นักศึกษาทุกคนทำรีพอร์ต ว่าวันนี้มีคนมาเยี่ยมชมนิทรรศการแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ผลปรากฏว่า นักศึกษาได้งานส่วนหนึ่ง จะเป็นพนักงานประจำหรือพนักงานฟรีแลนด์ก็ยินดี เพราะ ถือว่า โครงการจ้างงานเกิดขึ้นแล้ว ณ ที่แห่งนี้”ดร.ปิยะวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
21 พฤศจิกายน 2561
ผู้ชม 891 ครั้ง