มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี(มรส.) จัดงานปาฐกถา “นักปราชญ์ภาคใต้” ซึ่งได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ชวน เพชรแก้ว มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดผลงานของศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ให้ผู้เข้าร่วมฟังปาฐกถา ได้นำไปต่อยอดในเรื่องของการเรียนการสอน การศึกษาค้นคว้าวิจัย และการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ให้คงอยู่ต่อไป เมื่อวันเสาร์ ที่ 8 ธันวาคม 2561 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารหอสมุดและศูนย์สารสนเทศเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
อ.กิ่งกาญจน์ สุพรศิริสิน รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ประธานในพิธีเปิดปาฐกถา “นักปราชญ์ภาคใต้” กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้เห็นถึงความสำคัญของศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ปราชญ์ผู้บุกเบิกการศึกษางานวัฒนธรรมพื้นบ้านมานับตั้งแต่ ปี 2500 หนึ่งในผลงานชิ้นเอก คือ การจัดทำสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ และการก่อตั้งสถาบันทักษิณคดีศึกษา และพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยาที่เป็นศูนย์กลางในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ 14 จังหวัด จึงได้จัดปาฐกถา “นักปราชญ์ภาคใต้” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษา บุคลากร และผู้สนใจทั่วไปได้ตระหนักและมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ที่ควรอนุรักษ์ไว้ให้กับชนรุ่นหลัง รวมทั้งบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นนักปราชญ์ภาคใต้อย่างแท้จริง
โดยศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ถือได้ว่าเป็นนักปราชญ์ภาคใต้อย่างแท้จริงตลอดชีวิตการทำงาน จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ.2539 ท่านได้มุ่งมั่นทุ่มเทและอุทิศตนสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นคุณูปการต่อสังคมส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานด้านวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของสังคมท้องถิ่นและประเทศชาติ เนื่องจากตามทรรศนะของท่านเห็นว่าวัฒนธรรมคือวิถีชีวิต "ในการพัฒนาประเทศนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลทางด้านวัฒนธรรมเป็นพื้นฐาน" ดังนั้น วัฒนธรรมจึงมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานด้านวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับบริบทวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ อันมีประโยชน์ต่อส่วนรวม อาทิ จัดทำหนังสือพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ จัดทำหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ก่อตั้งสถาบันทักษิณคดีศึกษา และพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา และอีกหลายประการที่ท่านได้มีผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เป็นต้น
13 ธันวาคม 2561
ผู้ชม 852 ครั้ง