พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย และบึงกาฬ ณ กศน.ตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมี นายศรีชัย พระประชาธรรม เลขาธิการ กศน. รวมถึงผู้บริหารและบุคลากรในสังกัดให้การต้อนรับ และรายงานผลการดำเนินงาน ในเรื่องการขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืน ด้วยชุมชนต้นแบบ โครงการสร้างเครือข่ายดิจิทัลชุมชน และการแก้ไขปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบ
พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจติดตาม ฟังปัญหาอุปสรรคจากเครือข่ายการดำเนินงานในพื้นที่การดำเนินงานกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ว่า จากการที่ตนได้รับการรายงานถือว่า เป็นการทำงานในส่วนของการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรีที่มีการประชุมอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ โดยได้รับการรายงานจากการทำงานของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย และบึงกาฬ นับว่ามีความเข้มแข็งมีการดำเนินงานจากที่ได้มอบหมายงาน มีเรื่องของชุมชนต้นแบบไทยนิยมยั่งยืน ซึ่งมีความก้าวหน้าต้นแบบระดับจังหวัด ตนจึงให้ขยายผลถึงระดับอำเภอ และในวันนี้ได้มอบหมายถึงระดับตำบล ซึ่งจะมีการประชุมประเมินกันในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ ในการที่จะใช้เวลาดำเนินการในแต่ละพื้นที่ คาดว่า น่าจะใช้เวลาไม่นานนัก และคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในพื้นที่โอกาสต่อไป
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ สำนักงาน กศน. กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ได้รายงานผลการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โครงการไทยนิยม ยั่งยืน สำนักงาน กศน.จังหวัดอุดรธานี ดำเนินงานนโยบายหมู่บ้านชุมชนต้นแบบตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน “หมู่บ้านฮักมั่น อุดรธานี อยู่ดีมีแฮง” ได้คัดเลือกชุมชนบ้านหนาด อำเภอเพ็ญ เป็นหมู่บ้านชุมชนต้นแบบระดับจังหวัดด้านการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพด้านอาชีพการทอผ้ามัดหมี่ย้อมครามธรรมชาติ ซึ่ง กศน.ร่วมกับภาคีเครือข่ายเข้าไปส่งเสริมและออกแบบการเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์และเพิ่มศักยภาพการผลิต ด้วยการใช้วัตถุดิบและภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน มาเป็นต้นแบบที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น
สำนักงาน กศน.จังหวัดหนองคาย นำเสนอชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยววิถีชุมชนและชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยววิถีชุมชนและชุมชนต้นแบบไทยนิยม ตามสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ในรูปแบบหมู่บ้านโฮมสเตย์ กิจกรรมเด่น การล่องเรือท่องเที่ยวตามลำน้ำโขง ไหว้พระกลางลำน้ำโขง
สำนักงาน กศน.จังหวัดหนองบัวลำภู นำเสนอบ้านนาคำไฮ ต้นแบบที่มีความโดดเด่นเชิงประจักษ์ ตามโครงการโอท็อปวิถีชุมชนอยู่ดีมีสุข
สำนักงาน กศน.จังหวัดเลย นำเสนอชุมชนต้นแบบในเรื่องการดำเนินชีวิตตามวิถีไทย วิถีพอเพียง ภูมิปัญญาด้านศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทดำและการทอผ้าลายต่าง ๆ โดยปราชญ์ชาวบ้าน ผู้สูงอายุ
ด้านสำนักงาน กศน.จังหวัดบึงกาฬ นำเสนอชุมชนอยู่ดีมีสุขตามโครงการน้ำประปาเพื่อการเกษตร โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
ส่วนโครงการการสร้างเครือข่ายดิจิทัลชุมชนระดับตำบล ได้ดำเนินการเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน โดยขยายผลการอบรมหลักสูตร e-Commerce /e-Marketing และการเปิดพื้นที่ให้กับสถานศึกษา กศน.อำเภอ และ กศน.ตำบล เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ กศน. ผ่านเพจและเว็บไซต์ ต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางในการประกอบอาชีพด้วยตนเอง ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ของศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ กศน. เน้นการมีอัตลักษณ์และความหลากหลายตามบริบทของพื้นที่ โดยในปี 2562 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีผู้ผ่านการอบรมดิจิทัลชุมชนจำนวนทั้งสิ้น 13,049 คน
โครงการแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา สำนักงาน กศน.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 มีเป้าหมายที่จะนำประชากรวัยเรียนอายุระหว่าง 3-18 ปี เข้าสู่ระบบการศึกษา ด้วยการลงพื้นที่โดยใช้กลวิธี เคาะประตูบ้าน “รุกถึงที่ ลุยถึงถิ่น” จัดเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ผู้เรียน เพื่อหาสาเหตุและความต้องการในการเรียนรู้ และส่งต่อหรือจัดหาที่เรียนให้กับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจากข้อมูลที่ดำเนินการสำรวจประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด มีการจัดเก็บข้อมูล จำนวน 76,967 ราย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) ประชากรที่พร้อมจำหน่ายออกจากฐานข้อมูล ได้แก่ ประชากรที่เข้าเรียนแล้วทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา 18,416 คน ไม่มีตัวตนในพื้นที่/เสียชีวิต 13,428 คน และจบการศึกษา ม.ปลาย/ปวช.หรือเทียบเท่า จำนวน 14,711 คน 2) ประชากรที่พร้อมนำเข้าสู่ระบบการศึกษา ที่จบ ม.3 แต่ยังไม่ได้เรียนต่อ 14,938 คน เด็กพิการ 1,979 คน เด็กปกติที่ไม่ได้เรียน 8,203 คน เด็กออกกลางคัน 5,292 คน
ทั้งนี้ จากการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล "การจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย" ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ตนค่อนข้างพึงพอใจมาก เพราะ เกิดจาก ความร่วมมือในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน โดยวันนี้มีภาคประชาสังคมมาแสดงความคิดเห็นในภาคต่าง ๆ ถือว่าเป็นประโยชน์และเป็นความร่วมมือของผู้ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่อย่างแท้จริง
13 ธันวาคม 2561
ผู้ชม 858 ครั้ง