29 พฤศจิกายน 2567

ข่าวประกาศ

กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รับสมัครบุคคลเข้ารับราชการ จำนวน 6 อัตรา สมัครตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ - 15 มีนาคม 2565 สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รับสมัครบุคคลเป็นพนักงานราชการทั่วไป จำนวน 6 อัตรา สมัครตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล รับสมัครบุคคลเป็นพนักงานราชการทั่วไป จำนวน 6 อัตรา สมัครตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2565 กรมทางหลวง รับสมัครเข้ารับราชการ จำนวน 6 ตำแหน่ง สมัครตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ - 14 มีนาคม 2565 กรมสรรพสามิต รับสมัครบุคคล (คนพิการ) เป็นพนักงานราชการทั่วไป จำนวน 6 อัตรา สมัครตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2565

ดูบทความกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าออนไลน์

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าออนไลน์

หมวดหมู่: การศึกษา

 



ผศ.ทัชชภร  มหาแถลง
ผู้ช่วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ศรีปทุม

เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันมีการทำธุรกิจการค้าบนเครือข่ายออนไลน์มากขึ้นประกอบกับอุตสาหกรรมE-Commerce (อีคอมเมิร์ซ)ประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง  ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซด์(Website) เฟสบุค (Facebook)  อินสตราแกรม (Instagram) ไลน์ (LINE)  ฯลฯ การทำธุรกิจลักษณะดังกล่าว เรียกว่า การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Commerce ซึ่งช่วยให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว การซื้อขายสินทางอินเตอร์เน็ตหรือบนเครือข่ายออนไลน์ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว การซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ผู้ซื้อจะทำการตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลที่นำเสนอผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทางหน้าเว็บไซต์เท่านั้น ไม่เห็นหรือสัมผัสตัวสินค้าก่อนที่จะทำการซื้อเหมือนกับการซื้อในห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าทั่วไป

ปัญหาที่ตามมาจากการซื้อขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตหรือสื่อออนไลน์อื่นๆ เช่น ปัญหาเรื่องการฉ้อโกง กล่าวคือ สั่งซื้อสินค้าโดยโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารหรือผ่านบัตรเครดิตแล้วแต่ไม่ได้รับสินค้า ได้รับสินค้าชํารุดบกพร่อง สินค้าไม่ได้มาตรฐาน สินค้าไม่เป็นไปตามที่โฆษณา ติดต่อผู้ขายไม่ได้ การโฆษณาโอ้อวดเกินจริงเสมอ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมาจากผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สุจริตหวังแต่เพียงกําไรโดยไม่คํานึงถึงความเสียหายของผู้บริโภค

 

 

 

ผู้ซื้อและผู้ขายจึงควรรู้ถึงสิทธิของผู้บริโภคตามที่กฎหมายได้กำหนดขึ้นเป็นมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อที่จะทำให้การซื้อขายสินค้าหรือการให้บริการเป็นไปอย่างเป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งอาจตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบจากการเสนอสินค้าและการบริการผ่านการตลาด และการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคอาจไม่ทราบภาวะตลาดและความจริงเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าและราคาสินค้าและบริการได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการได้รับความเป็นธรรมในสัญญา ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ประการ ดังนี้

  1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภครวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
    2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภคและปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
    3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัยมีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
    4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
  2. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย
    เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว
    หลักดังกล่าวนั้นไม่ได้ใช้เพียงการซื้อขายสินค้าหรือการให้บริการโดยตรงแต่เพียงอย่างเดียวแต่รวมไปถึงการซื้อขายหรือให้บริการในโลกออนไลน์ด้วย ดังนั้น ผู้ซื้อก็ต้องศึกษาสิทธิของตนเพื่อไม่ให้ถูกผู้ประกอบการเอาเปรียบ แม้ปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังไม่มีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นการเฉพาะ นอกจากการกฎหมายเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ผู้เขียนเห็นว่ายังมีกฎหมายตัวอื่นๆสามารถนำมาปรับใช้กับกฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่

1. พระราชบัญญัติขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ.2545  ผู้ประกอบธุรกิจที่ทําการค้าขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ก่อน จึงจะทําการค้าได้ เหตุที่กฎหมายต้องบังคับให้ต้องจดทะเบียนก็เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถตรวจสอบหรือติดตามผู้ประกอบธุรกิจหรือบุคคลผู้ค้าขายได้ หากผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ์จากการซื้อสินค้าหรือบริการ และกฎหมายฉบับดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการถูกหลอกลวง หรือจากผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าหรือบริการด้วยวิธีการเสนอขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้บริโภคโดยตรงผ่านผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง หรืออาจเสนอขายผ่านสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสินค้าหรือบริการอาจไม่ตรงกับคำกล่าวอ้างตามที่ได้โฆษณา ส่งผลให้ผู้บริโภคอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม

2. พระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544   เป็นกฎหมายที่รองรับผลทางกฎหมายของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในทางแพ่งและพาณิชย์ที่ดำเนินการโดยใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถระบุตัวผู้ทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และเสริมสร้างศักยภาพในการทำธุรกิจ E-Commerce

3. พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์คุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นฝ่ายที่มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจน้อยกว่าผู้ประกอบการหรือผู้ขาย ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจมักกำหนดข้อสัญญาต่างๆไว้ล่วงหน้าแล้วนำมาใช้กับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งคือผู้บริโภคที่เรียกว่า สัญญาสำเร็จรูป โดยกฎหมายจะจำกัดกรอบของหลักความศักดิ์สิทธิ์ในการแสดงเจตนาและเสรีภาพของบุคคลเพื่อแก้ไขความไม่เป็นธรรม

4. พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550  กฎหมายได้กำหนดเรื่องลักษณะความผิดและบทกำหนดโทษในการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากในปัจจุบัน ระบบคอมพิวเตอร์ได้เป็นส่วนสำคัญของการประกอบกิจการและการดำรงชีวิตของมนุษย์หากมีผู้กระทำด้วยประการใด ให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานตามคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือทำให้การทำงานผิดพลาดไปจากคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือใช้วิธีการใด ๆ เข้าล่วงรู้ข้อมูล แก้ไข หรือทำลายข้อมูลของบุคคลอื่นในระบบคอมพิวเตอร์ โดยมิชอบ หรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ หรือมีลักษณะอันลามกอนาจาร ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งความสงบสุขและศีลธรรมอันดีของประชาชน

 

 

นอกจากกฎหมายต่างๆตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีก ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2541 ซึ่งหากผู้บริโภคได้รับความเสียหาย มักจะมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่า 1 ฉบับ ดังนั้น การทราบและรู้ถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้ผู้บริโภคมีความรู้ ความเข้าใจ และเกิดความระมัดระวังจากการซื้อขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตหรือเครือข่ายออนไลน์มากขึ้น

28 มกราคม 2562

ผู้ชม 29832 ครั้ง

Engine by shopup.com