คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "การผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นจากพันธุ์มะพร้าว" ระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยมีนักเรียน นิสิต นักศึกษา และครู-อาจารย์ หรือกลุ่มผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร และประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเรื่องของมะพร้าวเป็นจำนวนมาก
อาจารย์อาดือนา นิโด รองคณบดีฝ่ายวิจัยวางแผนและพัฒนา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีถือเป็นพื้นที่ปลูกมะพร้าวที่สำคัญของภาคใต้มาอย่างยาวนาน ประกอบกับมีผลรายงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศสนับสนุนว่าน้ำมันมะพร้าวมีประโยชน์มหาศาลทำให้ราคาผลมะพร้าวมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นไปอีกเพราะส่วนต่างๆ ของมะพร้าวล้วนแต่มีประโยชน์นำไปใช้ได้อย่างกว้างขวางมีข้อได้เปรียบพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ เช่น ปาล์มน้ำมันและยางพาราที่นำผลผลิตไปใช้ได้ในวงจำกัดเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แม้ว่ามะพร้าวจะให้ประโยชน์หลายด้านแต่ก็ยังคงมีการบุกรุกทำลายพื้นที่ปลูกมะพร้าวอยู่จำนวนมากเพื่อทำที่อยู่อาศัย ทำการค้าหรือทำเกษตรกรรม ซึ่งอาจจะทำให้ผลผลิตจากมะพร้าวลดลงจนอาจจะไม่เพียงพอสำหรับใช้ภายในประเทศ การศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของมะพร้าวจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรเห็นความสำคัญและตระหนักรู้ในคุณค่าของมะพร้าวยิ่งขึ้น
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรณ์ กรภัทร์ชัยกุล หัวหน้าโครงการการผลิตและการวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นจากพันธุ์มะพร้าวที่ปลูกในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเปดเผยว่า โครงการการผลิตและการวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เป็นการจัดอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนที่สนใจเกี่ยวกับลักษณะของมะพร้าวและการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น โดยมีการวิเคราะห์เปรียบเทียบองค์ประกอบของน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่ได้จากมะพร้าวพันธุ์ต่าง ๆ ที่ปลูกในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนคุณประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นแต่ละพันธุ์ ร่วมกันศึกษาค้นคว้าหารูปแบบวิธีการ (protocol) ในการทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการจัดทำเอกสารลักษณะทางพฤกษศาสตร์กำกับมะพร้าวพันธุ์ต่างๆ ที่นำมาทำน้ำมันแบบสกัดเย็น
ส่วน ดร. ลักษมี ชัยเจริญวิมลกุล ประธานหลักสูตรสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ทางคณะผู้ดำเนินโครงการได้ร่วมศึกษาข้อมูลมะพร้าวได้แก่ พันธุ์ และพื้นที่ปลูกมะพร้าวในอำเภอท่าชนะ อำเภอไชยาและอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยการเก็บรวบรวมตัวอย่างผลสุกของมะพร้าวพันธุ์ต่างๆ จำนวน 5 พันธุ์ ที่มีลักษณะทางสัณฐานแตกต่างกันอย่างชัดเจน และมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง มะพร้าวและกรรมวิธีการสกัดเย็น จากนั้นได้วิจัยเพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบองค์ประกอบของน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่ได้จากมะพร้าวพันธุ์ต่างๆทั้ง 5 พันธุ์ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และทำเทคนิคจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบสแกนนิง(SEM) เรณู และเผยแพร่การวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำมันมะพร้าวในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
12 มีนาคม 2562
ผู้ชม 1253 ครั้ง