สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สนง.กศน.)จัดสัมมนาวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง”(ศศช.)โครงการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.)ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสำนักงาน กศน. ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ครู ศศช. คณะทำงานบุคลากรสำนักงาน กศน. และภาคีเครือข่าย รวมทั้งสิ้น ๑,๗๐๐ คน
การสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นก้าวหนึ่งของการพัฒนางานการจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูงที่มีเป้าหมาย คือเด็กและเยาวชนในพื้นที่การพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะครู ศศช. ทั้งในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริ และพื้นที่สูงอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น ๑๔ จังหวัด อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย ยุทธศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ และที่สำคัญเพื่อสนองงานตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ ณ ศูนย์กีฬากาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่
ดร.ศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการ กศน. กล่าวในพิธีเปิดงานสัมมนาวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” โครงการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้จัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่เป้าหมายได้มีโอกาสทางการศึกษาทางการศึกษา มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันเป็นแผนพัฒนาระยะที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๙ ดำเนินการในพื้นที่ ศศช. สังกัดสำนักงาน กศน.จังหวัดเชียงใหม่ ตาก น่าน แม่ฮ่องสอน และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยมอแกน หมู่เกาะสุรินทร์ สังกัดสำนักงาน กศน.จังหวัดพังงา รวม ๕ จังหวัด
จุดเน้นและนโยบายของ กศน.ปี 62 เน้นให้ทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งต้องอาศัยสื่อที่มีความหลากหลาย นอกจากสื่อที่เป็นตัวหนังสือเรียนชุดความรู้ บทเรียนสำเร็จรูป ปัจจุบัน กศน.ยังเน้นเรื่องการใช้เทคโนโลยีการเข้าถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่ออินเตอร์เน็ต สื่อแผ่นซีดี ระบบออฟไลน์และระบบออนไลน์ทุกชนิด โดยทาง กศน. จะเพิ่มในเรื่องของสื่อที่เป็นสื่อออฟไลน์ ให้มากขึ้นจำพวกแผ่นซีดีต่าง ๆ ทำให้ปิดจุดอ่อนด้านความถี่หรือสื่อที่มีน้อย ขณะเดียวกันเราได้บูรณาการกับหน่วยข้างเคียง เช่น อาชีวะ ตชด.หรือใกล้กับท้องที่ท้องถิ่นที่มีสื่อเราก็จะไปขอแชร์ เวลา ขอแชร์ปริมาณการใช้ร่วมกัน ส่วนระบบแลนด์ที่เราได้วางไว้ก็จะเน้นให้มากขึ้นเพื่อมาทดแทนสื่อที่เป็นตัวหนังสือกระดาษ โดยการใช้สื่อก็จะเป็นประโยชน์สำหรับ น้อง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่สูง พื้นที่ที่ไม่สามารถนำจ่ายหนังสือพิมพ์ หนังสือที่เป็นประจำวันได้ทุกเช้าบ่าย แต่สื่อเหล่านี้สามารถที่จะข้ามพ้นความยากลำบากหรือถิ่นกันดารของเส้นทางที่เข้าไปสู่บริเวณชุมชนที่เป็นดอยในพื้นที่สูงหรือเป็นเกาะที่ชาวไทยมอแกนชาวเลอยู่อาศัยได้อย่างรวดเร็ว ในทันทีที่สื่อสามารถออกจากต้นต่อหรือแหล่งที่ส่งสาร ความเร็วตรงนี้จะทำให้ปรับความทันสมัยของการเรียนรู้ของนักเรียน กศน.ที่อยู่ใน ศศช.ได้ในทันที
ทั้งนี้ ในเรื่องการทันสมัย เรื่องการยกระดับทักษะ ข้อสำคัญคือ น้อง ๆ สามารถไปลงมือปฏิบัติได้ เช่น บาง ศศช.มีสินค้าพื้นถิ่น มีผ้าปักชนเผ่าเขาสามารถที่จะมีเพจและวางระบบออนไลน์ สามารถที่จะจองและสั่งซื้อสินค้า ซึ่งตรงนี้สามารถนำมาในการสร้างอาชีพและสร้างรายได้สามารถที่จะพึ่งตนเองได้
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดงานสัมมนาวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ว่า สำนักงาน กศน.ได้มีโอกาสสนองงานตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในด้านการจัดการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ มีบทบาทหน้าที่ ในการส่งเสริมสนับสนุนในด้านการจัดการศึกษา ให้ความรู้แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย เพื่อส่งเสริมพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ และสำนักงาน กศน. ได้ดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสทางการศึกษา ให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง การพัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษา ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาทุกช่วงวัยอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ให้การศึกษาเป็นกลไกในการพัฒนาคน พัฒนาประเทศชาติ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และประชาชนในถิ่นทุรกันดารที่อยู่บนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นชนเผ่าและชาติพันธุ์ ให้มีคุณภาพสามารถอ่านออกเขียนและพูดภาษาไทยได้ รวมทั้งเข้าถึงบริการของรัฐ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ได้รับบริการอย่างเท่าเทียมกันในทุก ๆ ด้าน และมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย
คนที่อยู่บนพื้นที่ชาวเขาความเหลื่อมล้ำแย่มาก การสร้างความเหลื่อมล้ำความเสมอภาค เราต้องใช้การศึกษาสร้างให้เขาลดความเหลื่อมล้ำ จากการที่เด็ก ๆ ได้รับการศึกษาดีก็จะสามารถเรียนต่อในระดับสูงขึ้นในพื้นที่ได้ เรามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4-5 หน่วยงานเข้ามาสร้างความเสมอภาคด้านสุขภาพอนามัย ทั้งด้านอาชีพ ด้านความรู้เพิ่มเติม ในส่วนของศูนย์การเรียนชุมชนจะมีการทำเหมือนพื้นที่ปกติ แต่จะมีแอปต่าง ๆ ในเรื่องของการขายของออนไลน์ในเชิงนี้ทำค่อนข้างเยอะ โชคดีที่อินเตอร์เน็ตต่าง ๆ เข้ามา ครูในส่วนของ ศศช. จึงได้พัฒนาเรื่องอินเตอร์เน็ตและพัฒนาเรื่องของอีคอมเมิร์ซขายออนไลน์ โดยที่มีชาวบ้านได้ถูกฝึกให้เรียนรู้การใช้อินเตอร์เน็ต อันจะเป็นประโยชน์แก่ชาวเขา ซึ่งปัจจุบันชาวเขาก็มีการใช้ภาษาไทยต่าง ๆ ในระดับค่อนข้างดี”ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวทิ้งท้าย
13 มิถุนายน 2562
ผู้ชม 1282 ครั้ง