วันที่ 24 กรกฎาคม 2562 นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กำหนดลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในการประชุม “พลังร่วม” ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน สร้างสรรค์สามัคคี สดุดีองค์ราชัน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โดยนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาครู หลักสูตรการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทและความจำเป็นของสถานศึกษาในพื้นที่โดยใช้ดิจิทัล ด้วยการพัฒนารูปแบบระบบนิเวศทางการศึกษาแบบดิจิทัล เพื่อจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ ภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้เรียน ครู ผู้บริหาร และผู้ปกครอง กลุ่มเป้าหมายคือโรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1-7 และโรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 จำนวน 200 โรงเรียน
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยยึดพื้นที่เป็นฐานในการพัฒนาสถานศึกษา และเป็นการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้ชำนาญการการบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐาน เขตตรวจราชการที่ 13 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ผู้บริหารสถานศึกษาทุกโรงเรียน ในจังหวัดนครราชสีมา และคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นสักขีพยานในการลงนาม และร่วมมือกันขับเคลื่อนความร่วมมือทางวิชาการให้ประสบผลสำเร็จ โดยเลขาธิการ กพฐ. ได้มอบนโยบายและทิศทางในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้
นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฉบับนี้ สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในด้านการจัดการศึกษาที่มุ่งตอบโจทย์ประเทศใน 4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 พระบรมราโชบายด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 มิติที่ 2 แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มิติที่ 3 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมิติที่ 4 การศึกษาสู่สากล โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาเป็นสถานศึกษาที่มีความพร้อมในด้านการพัฒนาครู ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชนของชาติต่อไปในอนาคต การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการบูรณาการด้านการศึกษาที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมารวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง และอาจขยายไปสู่ทั่วประเทศโดยพัฒนาให้มีความสอดคล้องกับพื้นที่ของตนเองได้
ทั้งนี้ เลขาธิการ กพฐ. ยังได้กล่าวถึงการติดตามโครงการอาหารกลางวันนักเรียน โดยได้กำชับให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และคณะทำงาน ลงพื้นที่ติดตามโครงการอาหารกลางวันอย่างใกล้ชิด ให้มีการควบคุม และตรวจสอบให้โรงเรียนในสังกัดดำเนินโครงการอาหารกลางวันให้มีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นกับโรงเรียนในสังกัด ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่และผู้อำนวยการโรงเรียน ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว รวมทั้งดำเนินการอย่างเด็ดขาด และให้สำนักงานเขตพื้นที่ทุกเขต รายงานผลการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันให้ สพฐ. รับทราบภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้ สพฐ. รับทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบันตามความเป็นจริง และนำมาพัฒนาโครงการอาหารกลางวันต่อไปa
26 กรกฎาคม 2562
ผู้ชม 429 ครั้ง