สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนวิทยาลัยสารพัดช่าง เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ในศตวรรษที่ 21 โดยมีนายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมฯ ดร.พีระพล พูลทวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นางปัทมา วีระวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสถานศึกษา ร่วมในพิธี ณ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา รามอินทรา นายณรงค์ แผ้วพลสง เปิดเผยว่า สอศ.เป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการผลิตและพัฒนากำลังคน ระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี จึงได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนวิทยาลัยสารพัดช่างให้ดำเนินการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนสู่ศตวรรษที่ 21 ตอบสนองนโยบายรัฐบาล และมีทักษะอาชีพตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ ตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคน และรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ทั้งนี้ การจัดประชุมฯ มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาคุณภาพและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของวิทยาลัยสารพัดช่าง เพื่อศึกษาสภาพปัญหาความต้องการ พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของวิทยาลัยสารพัดช่าง เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการกำหนดนโยบาย เป้าหมายให้มีความเข้มแข็ง พร้อมพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาต่อไป และเพื่อระดมความคิดเห็นพัฒนาคุณภาพและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของวิทยาลัยสารพัดช่าง และกำหนดเป้าหมายการเพิ่มปริมาณผู้เรียนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น รองรับความต้องการแรงงานคุณภาพของภาคอุตสาหกรรมนายณรงค์ กล่าวเพิ่มเติม ว่า จากนโยบายของรัฐบาลได้กำหนดนโยบายหลัก 12 ด้าน โดยพัฒนาอาชีวะ พัฒนาคุณภาพวิชาชีพ และพัฒนาแรงงานรองรับอุตสาหกรรม 4.0 กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพกำลังคนสอคล้องกับภารกิจของวิทยาลัยสารพัดช่าง ที่ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพระยะสั้น โดยเน้นให้ประชาชนได้มีโอกาสฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม หรือการเปลี่ยนอาชีพจากอาชีพที่ใช้แรงงานเป็นอาชีพที่ใช้ทักษะฝีมือ โดยขอให้วิทยาลัยสารพัดช่างดำเนินการตามจุดเน้นและทิศทางการขับเคลื่อนการจัดการการอาชีวศึกษา ประจำปี 2563 สอดคล้องกับสโลแกน "การศึกษาสร้างคน อาชีวะสร้างชาติ" เพื่อเตรียมคนสู่ศตวรรษที่ 21
โดยมีจุดเน้น 1. เพิ่มปริมาณผู้เรียนสายอาชีวะ 2. พัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศการอาชีวศึกษา 3. พัฒนาและยกระดับคุณภาพวิทยาลัยสารพัดช่าง 4. ยกระดับคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา 5. อาชีวศึกษาต้องเป็นนักนวัตกรรมสังคม 6. ขับเคลื่อนอาชีวศึกษา เพื่อเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21" จากจุดเน้นของ สอศ. มาสู่การพัฒนาและยกระดับคุณภาพวิทยาลัยสารพัดช่าง เพื่อเป้าหมายผลิตและพัฒนากําลังคนอาชีวศึกษาในศตวรรษที่ 21
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมฯ ครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนวิทยาลัยสารพัดช่างเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการยกระดับวิทยาลัยสารพัดช่าง ให้สอนวิชาชีพที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาประเทศเพื่อผลิตและพัฒนากําลังคนสาขาที่ขาดแคลน สาขาที่เป็นที่ต้องการเร่งด่วน สาขาที่เป็นความต้องการในระดับประเทศ" นายณรงค์ กล่าวปิดท้าย
14 พฤศจิกายน 2562
ผู้ชม 685 ครั้ง