การเติบโตทางการท่องเที่ยวและการเดินทางระหว่างประเทศ ขณะที่ประเทศไทยถือเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินและอากาศยานระดับภูมิภาค โดยเฉพาะที่กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในศูนย์การการบินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รองรับผู้เดินทางกว่า 90 ล้านคนต่อปี การผลิตบุคลากรด้านอุตสาหกรรมการบินในประเทศ จึงมีความสำคัญอย่างสูงและเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่า เราจะผลิตคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมนี้ได้เพียงพอและมีคุณภาพเพียงใด
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในการขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้มีความพร้อมในการเป็นบัณฑิตนักปฏบัติที่เป็นคนดีมีความรู้ รักสู้งาน มุ่งพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ในด้าน Soft Skills เป็นการเสริมสร้างจุดแข็งให้แก่บัณฑิตให้เป็นนักปฏิบัติที่มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละด้านของสถานประกอบการ สามารถทำงานได้ทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษาคณะได้เล็งเห็นถึงโอกาสครั้งสำคัญนี้เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศ จึงได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท ไทยไฟล์ทเทรนนิ่ง จำกัด หรือ TFT และบริษัท วิงสแปนเซอร์วิสเซส จำกัด ในเครือการบินไทย เพื่อเป็นพันธสัญญาเปิดหลักสูตรปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษอุตสาหกรรมการบิน หวังให้เป็นหลักสูตรร่วมกับเครือการบินไทย ผลิตคนคุณภาพสู่ธุรกิจการบินในอนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไพศาล บุรินทร์วัฒนา อธิการบดี มทร.สุวรรณภูมิ กล่าวว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการทางการศึกษาที่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมหลักของประเทศได้อย่างมีคุณภาพ มหาวิทยาลัยจึงนำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มากำหนดไว้เป็นนโยบายเพื่อผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติในด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีชั้นสูง โดยเฉพาะกลุ่มการท่องเที่ยว บริการและการบิน ที่เป็นวิชาชีพสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาล การเปิดหลักสูตรนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายของมหาวิทยาลัยที่แสดงออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล”
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยเอก ดร.ธนู ทดแทนคุณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มทร.สุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า “ด้วยพันธกิจของคณะศิลปศาสตร์ที่วางไว้ ในการจัดหลักสูตรปริญญาตรีด้านภาษา การท่องเที่ยวและการบริการ เดิมมีหลักสูตร ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การท่องเที่ยว และการโรงแรม อยู่แล้ว จึงมีแนวคิดในการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ รวมถึงการฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการเพื่อเตรียมพร้อมผลิตบัณฑิตสู่ตลาดแรงงานของประเทศชาติ ที่มีบุคลากรมีความรู้ในธุรกิจการบินเข้าสู่ตลาดแรงงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเปิดสนามบินแห่งใหม่ ๆ อีกหลายแห่งและการขยายสนามบิน สายการบินก็มีการพัฒนาการบริการเพื่อรองรับผู้ใช้บริการทุกระดับ คนเข้าถึงสายการบินได้สะดวกขึ้น ขณะเดียวกันที่คณะก็มีความพร้อมในการจัดหลักสูตรที่มีคุณภาพจากการประสบความสำเร็จด้านการประกันคุณภาพทางการศึกษาทุกปี และมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเรียนการสอนครบถ้วน จึงร่วมมือกับทั้ง 2 บริษัทในเครือการบินไทย เพราะเห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นองค์กรคุณภาพระดับนานาชาติ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ สร้างคนคุณภาพออกไปสู่ตลาดแรงงาน
เมื่อกล่าวถึงประเด็นที่เป็นจุดอ่อนของเด็กไทย คือ ภาษาอังกฤษ จะทำอย่างไรให้คนการบินรุ่นใหม่มีความพร้อมทั้งทักษะและภาษา เพื่อสามารถทำงานได้ทันทีไม่ต้องไปสร้างต้นกล้าใหม่ในบริษัทที่เข้าไปทำงาน “ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก” เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า หากมีทักษะด้านภาษาก็อาจจะไม่มีทักษะหรือความรู้ด้านการบิน หรือหากมีทักษะด้านการบินก็มีโอกาสเรียนวิชาด้านภาษาน้อย ซึ่งได้หารือกับทั้ง 2 บริษัท เพื่อให้การเปิดหลักสูตรในครั้งนี้ ตรงความต้องการของภาคธุรกิจมากที่สุด จึงได้ข้อสรุปอย่างลงตัวว่า หลักสูตรนี้คือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษอุตสาหกรรมการบิน ที่ผู้เรียนจะได้ฝึกภาษาที่จำเป็นต่อการทำงานจริง ขณะเดียวกัน ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ทักษะในแต่และด้านของอุตสาหกรรมการบิน หลังจากนั้นผู้เรียนจะมีโอกาสเข้าไปฝึกปฏิบัติจริงในบริษัทเครือการบินไทย หรือบริษัทอื่นตามความสนใจ จึงเชื่อได้ว่าหลักสูตรนี้จะตอบสนองธุรกิจการบินของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง”
เมื่อเข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้ คณะศิลปศาสตร์จะทำหน้าที่ในการให้ความรู้ด้านวิชาการตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี โดยมีอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรที่มีความเชี่ยวชาญอย่างสูงด้านภาษาอังกฤษและมีประกาศนียบัตรรับรองผ่านการอบรมจากบริษัทในเครือการบินไทย และทั้ง 2 บริษัทจะทำหน้าที่ในการส่งบุคลากรเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาเป็นอาจารย์ร่วมสอนในรายวิชา และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้าไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพและฝึกสหกิจศึกษา ผู้เรียนจะได้สวมเครื่องแบบ ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะพร้อมติดเข็มของคณะศิลปศาสตร์และเครื่องหมายปีกสำหรับหลักสูตรนี้ อีกทั้งยังจะได้รับการพัฒนาบุคลิกภาพเพื่อเตรียมความพร้อมสู่งานบริการ นอกจากจะเรียนในรายวิชาเกี่ยวกับภาษาอังกฤษแล้ว ยังได้เรียนรายวิชาด้านการเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน การให้บริการผู้โดยสารภาคพื้น งานครัวในอุตสาหกรรมการบิน การจำหน่ายตั๋วโดยสาร การพานิชย์สินค้าทางอากาศ และทักษะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงส่งผลให้ผู้เรียนมีความรู้รอบด้านในอุตสาหกรรมการบินและมีความพร้อมด้านภาษาที่สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับทั้งเอกสารรับรองและปริญญาบัตร ที่สำคัญค่าใช้จ่ายในหลักสูตรยังถือว่าประหยัดกว่าอีกหลายหลักสูตรในลักษณะเดียวกันสมเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาล
ราชมงคลสุวรรณภูมิ มีความเข้มแข็งในการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติมายาวนานอยู่แล้ว แต่การพัฒนาหลักสูตรในครั้งนี้ถืออีกมิติที่สำคัญ ในการสร้างสรรค์ทักษะคนรุ่นใหม่ให้รู้จริง ตรงความต้องการและทำงานเป็น โดยจะเปิดสอนในพื้นที่ มทร.สุวรรณภูมิ ศูนย์นนทบุรี และศูนย์พื้นที่ใกล้เคียง รายละเอียดหลักสูตรสามารถสอบถามได้ที่ อาจารย์วันดี ศรีสวัสดิ์ โทร 08 1947 0971 หรือ www.arts.rmutsb.ac.th อีก 4 ปีข้างหน้าคงจะได้เห็นผลผลิตจากหลักสูตรนี้โบยบินสู่ท้องฟ้าในอุตสาหกรรมการบิน
15 พฤศจิกายน 2562
ผู้ชม 781 ครั้ง