มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จับมือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สานต่ออาชีพพระราชทาน สนับสนุนทุนศึกษาต่อปริญญาตรีในสาขาวิชาด้านปศุสัตว์หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงโคนมเพื่อพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคนม ตลอดหลักสูตร ระยะเวลาโครงการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 นี้เป็นต้นไป โดยผู้รับทุนจะต้องกลับไปปฏิบัติงานในสหกรณ์โคนมที่สมาชิกสังกัดไม่น้อยกว่า 5 ปี
วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2563) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 226 ชั้น 2 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของบุตร – หลานสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ระหว่าง กรมส่งเสริมสหกรณ์ กับ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดย นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี พร้อมลงนามร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมี นายอัชฌา สุวรรณนิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัทธมน ตั้งจิตวัฒนาชัย ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาสัตวศาสตร์ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นพยานการลงนามในครั้งนี้
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการความร่วมมือทางการศึกษาเพื่อสานต่ออาชีพพระราชทาน เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและร่วมถวายความอาลัย ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์และขบวนการสหกรณ์สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อขบวนการสหกรณ์โคนม และทรงให้ใช้ระบบสหกรณ์เป็นรากฐานสำคัญในการแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมกับคนไทยอย่างยั่งยืน
ซึ่งการลงนามฉบับนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กับ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โอกาสบุตร – หลานสมาชิกสหกรณ์โคนม หรือสหกรณ์การเกษตรที่สมาชิกเลี้ยงโคนม ในการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพเลี้ยงโคนม เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้นำความรู้และเทคโนโลยีมาพัฒนาฟาร์มและสหกรณ์โคนม หรือสหกรณ์การเกษตรที่สมาชิกเลี้ยงโคนม สร้างความมั่นคงในอาชีพการเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานให้อยู่คู่กับคนไทย รับนิสิตซึ่งมีความตั้งใจและมีศักยภาพในการพัฒนามาตรฐานฟาร์มโคนมต่อไปเมื่อสำเร็จการศึกษา ตลอดจนพัฒนาและส่งเสริมให้มีฟาร์มโคนมมาตรฐานที่สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคในประเทศและเพื่อการส่งออก อีกทั้งขยายโอกาสให้บัณฑิตเป็นผู้ดำเนินกิจการด้านปศุสัตว์ซึ่งจะสามารถพัฒนาและเผยแพร่งานมาตรฐานฟาร์มและสหกรณ์โคนม หรือสหกรณ์การเกษตรที่สมาชิกเลี้ยงโคนมให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบการ
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล กล่าวว่า สำหรับแนวทางการดำเนินการและกิจกรรมความร่วมมือนั้น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จะได้ดำเนินการประกาศรับสมัคร คัดเลือก และประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกผู้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพเลี้ยงโคนมตามหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งทั้งสองฝ่าย จะร่วมกันคัดเลือกบุตร – หลานของสมาชิกสหกรณ์โคนม หรือสหกรณ์การเกษตรที่สมาชิกเลี้ยงโคนม โดยพิจารณาหลักเกณฑ์ตามลำดับ ทั้งนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะได้ประสานความร่วมมือกันและสนับสนุนตลอดจนติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ตามบันทึกความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นระยะต่อไป
07 กุมภาพันธ์ 2563
ผู้ชม 866 ครั้ง