วิชาปฏิบัติการ....ใครว่าเรียน Online ไม่ได้ เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส กับวิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ ม.ศรีปทุม มีคนหลายคนเคยบอกว่าวิชาที่ต้องลงมือ “ปฏิบัติ” กับการเรียน “Online” ฟังดูเหมือนจะไปกันไม่ได้ แต่…ที่ SPU เราทำได้ “อยู่ตำแหน่งไหนบนโลก..ก็เรียนได้”
“โควิด – 19” ผลกระทบที่ต้องหันมา “เรียนออนไลน์” ภายใต้ข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ทั้งความพร้อมของอุปกรณ์ โปรแกรม สัญญาณอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงผู้เรียนและผู้สอน ที่ต้องปรับตัวรับมือครั้งใหญ่ และดูเหมือนวิชาที่ต้องทำการปฏิบัติ (ลงมือทำ) กับการเรียน “ออนไลน์” มันจะไปกันไม่ได้ ในความคิดของหลายๆ คน แต่กับ อาจารย์พีรยา สุขกิจเจ หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการการโรงแรม วิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม หรือ “โค้ชพี่พี” ของน้องๆนั้นบอกว่า…..มันง่ายนิดเดียว!!
ห้องเรียนในบ้าน กับการสอน “ออนไลน์” ในรูปแบบของ “อาจารย์”
โค้ชพี่พี เล่าว่า หลายคนอาจสงสัยว่า อาจารย์จะสอนยังไง มันทำได้เหรอ แน่นอนว่ามันทำได้ โดยอาจารย์จะเป็นผู้ทำการสาธิตและเปิดโอกาสให้นักศึกษาซักถาม พูดคุยระหว่างการเรียน โดยหลังจากนั้นจะให้นักศึกษา ทำคลิป VDO ที่บ้านของนักศึกษาเองเพื่อความปลอดภัยในช่วงนี้ และนำเสนอผ่านออนไลน์ภายหลัง เช่น วิชาครัว จะให้นักศึกษาออกแบบเมนูอาหารตามหัวข้อที่กำหนดไว้ เตรียมทำคลิป VDO นำเสนอ และที่สำคัญที่สุด เป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาใช้เวลากับครอบครัวในการทำกิจกรรมอยู่ที่บ้านอีกด้วย สำหรับ วิชาบาร์ อาจารย์จะทำการสาธิต พร้อมทั้งให้นักศึกษาได้ลงมือทำอยู่ที่บ้าน และสามารถขอคำแนะนำจากอาจารย์ได้ตลอดเวลา ผ่านทางออนไลน์ ก่อนที่จะทำชิ้นงานส่ง
“ออนไลน์“ ย่นระยะทาง ให้ได้สบตา เพราะเราใกล้ (จอ) กัน
โค้ชพี่พี เล่าต่อว่า หากคิดในแง่บวก การเรียนการสอนออนไลน์ มันทำให้เราได้สบตากันมากขึ้น เพราะใกล้ (จอ) กันมาก เราจะเห็น Reaction ของนักศึกษาในระหว่างเรียน ขอย้อนกลับไปเมื่อตอนต้นเทอมนะคะ พีมีสอนคาบเรียน 09.00 น. เราเองก็อยากรู้ว่าเด็กๆ มาเรียนกันยังไง ตื่นกี่โมง วันนี้รถติดไหม บ้านอยู่ที่ไหน คุยเรื่องราวข่าวสารเหมือนพูดคุยกันคล้าย homeroom ทีนี้พอมาถึงตอนเช็คชื่อเข้าห้องเรียน จะต้องทำการเรียกชื่อแต่ละคน มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างยาก เพราะเด็กๆ เดี๋ยวนี้ชื่ออ่านยากมากค่ะ เช่น อภิรัฐฐา สรรรฑทัศน์ อ่านยากมาก!! พีเลยให้ช่วยกันตั้งชื่อนามปากกา เช่น เจนนี่ คลองเจ็ด, บอล สะพานใหม่, มิ้ล สามเหลี่ยมดินแดง, แก้ม สำโรง, อ้วน เสนา1 จากการตั้งชื่อแบบนี้ มันทำให้เรารู้เลยว่า โอเค คนนี้มาสาย สัก 10 นาที ก็อนุโลมไป เพราะบ้านไกล เด็กอาจมีปัญหารถติดช่วงเช้า พอตอนนี้เราต้องเรียนออนไลน์ สิ่งที่เราให้เด็กๆ ตั้งชื่อไว้ยิ่งสนุก เด็กๆ จะ rename ชื่อตัวเอง แล้วเราก็ทักทายเวลาเค้า online ในคลาส หรือเรียกตอบคำถามให้อธิบาย ซึ่งชื่อแบบนี้ทำให้นักศึกษาสนใจและสนุกเวลาเรียนในคลาส เช่น สวัสดีค่ะ “ส้ม เจ้เล้ง” เข้ามาแล้วนะคะ “จ๋า นั่งเกล้า” ฮัลโหลลลล “น้องเมย์ เด็กนนท์” ก็สนุกไปอีกแบบค่ะ ดีกว่ามาเรียกชื่อจริงกันและมันทำให้เราได้สนิทกับเด็กๆ ไปอีกทาง การเรียนการสอนของเราก็สนุกไปด้วย
เรียกว่า พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ให้เราเข้าสู่ระบบการเรียนแบบออนไลน์กันเร็วขึ้น เข้ากับยุคสมัยที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้มากขึ้น ปรับตัวไปพร้อมๆ กัน อาจารย์ทุกท่านต่างก็เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเด็กๆ นักศึกษา และสนุกไปกับการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆด้วยกัน
ตัวอย่าง VDO การสอนทำขนม Online โดยอาจารย์ พิเศษ วิชา เบเกอรี่ สาธิตการทำขนมจากครัวที่บ้านและให้นักศึกษาฝึกหัดในรูปแบบเดียวกันมาส่งเป็น Project ในคลาส
https://www.youtube.com/watch?time_continue=15&v=SHnVG7T_i2A&feature=emb_logo
27 เมษายน 2563
ผู้ชม 974 ครั้ง