มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดอบรมทั้งในห้องปฏิบัติการและผ่านระบบออนไลน์ เพื่อแนะนำการใช้ระบบห้องเรียนสมรรถนะสูงแบบอิเล็กทรอนิกส์ High Performance e-Classroom (HiPerC) แก่อาจารย์สำหรับนำไปใช้ในการเรียนการสอน การสอบ การประชุม และกิจกรรมต่างๆแบบออนไลน์ ให้กับอาจารย์ผู้สอน เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนการเรียนแบบออนไลน์ของนักศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อ COVID -19
ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จึงมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยของนักศึกษา บุคลากรและคณาจารย์ สำหรับแนวทางการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกอบกับประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ฉบับที่ 3 ที่ให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งหยุดการเรียนการสอนแบบปกติแล้วปรับเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทั้งหมดตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา รวมทั้งยกเลิกการฝึกงาน โดยให้ปรับรูปแบบการสอบและประเมินผลให้เหมาะสม
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้มอบหมายให้สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการสนับสนุนกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างสมรรถนะการใช้งานเครื่องมือการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ของมหาวิทยาลัย โดยใช้ระบบห้องเรียนสมรรถนะสูงแบบอิเล็กทรอนิกส์
ระบบห้องเรียนสมรรถนะสูงแบบอิเล็กทรอนิกส์ (HiPerC) เป็นระบบจัดการเรียนการสอนที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการข้อมูลของผู้เรียน ผู้สอน โครงสร้างเนื้อหา หลักสูตรและข้อสอบ รวมทั้งการติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลผู้เรียน ตลอดจนการจัดการในด้านการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ผู้สอนสามารถสร้างรายวิชาโดยบรรจุเนื้อหา กิจกรรม การสร้างแบบทดสอบ สื่อการสอน การจัดการสภาพแวดล้อมทางการเรียน และจัดเก็บข้อมูลการเรียนของผู้เรียนได้ด้วยตนเอง เพื่อที่ผู้สอนจะสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อติดตามและประเมินผลการเรียนการสอนในรายวิชาได้ ผู้เรียนสามารถศึกษาเนื้อหา และทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ผู้สอนสร้างไว้ นอกจากนั้น ผู้สอนและผู้เรียนยังสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ผ่านเครื่องมือสื่อสารที่จัดไว้ให้ เช่น ข่าวประกาศ อีเมล ห้องสนทนา และกระดานเสวนา เป็นต้น โดยใช้ Learning Management System (LMS) เป็นเครื่องมือในการพัฒนา
19 พฤษภาคม 2563
ผู้ชม 586 ครั้ง