มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมจัดทำโครงการจ้างงานประชาชนกับโครงการอาสาสมัครชุมชนสู้ภัยโควิด – 19 ภายใต้โครงการ “อว.สร้างงาน สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19” ซึ่งจะช่วยฟื้นฟู และเยียวยาประชาชนทั้ง 65 ตำบล 11 อำเภอ ในเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุง
อาจารย์ ดร.พลกฤษณ์ คล้ายวิตภัทร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและชุมชนสัมพันธ์ พัทลุง เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้คัดเลือกอาสาสมัครชุมชนที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณามาแล้ว 325 อัตรา โดยได้แบ่งการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลชุมชนตามตำบลต่างๆ เช่น แผนที่ชุมชน สถานประกอบการชุมชน แหล่งท่องเที่ยว พืช/สัตว์เศรษฐกิจ แหล่งน้ำในชุมชน ขยะและมลภาวะ กลุ่ม/องค์กร/ชมรม และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชน ในจังหวัดพัทลุง ทั้ง 65 ตำบล ๆ ละ 5 คน เพื่อประสานงานกับประชาชนในพื้นที่ อธิบายขั้นตอนการสำรวจและการจัดทำข้อมูลด้านโรคติดต่อชุมชน Smart Farming ในชุมชน
การจัดการขยะชุมชน การส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การบริหารจัดการน้ำชุมชน การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ รวมถึงการชี้แจงรายละเอียด ถ่ายทอด เผยแพร่ และรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีความจำเป็น อีกทั้ง ความต้องการ ปัญหา และอุปสรรค เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ ในพื้นที่ เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว อาสาสมัครชุมชน จะนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์และทำแผนดำเนินงานร่วมกับที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญ ด้านต่างๆ ของกระทรวง จากนั้นก็จะลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม ถ่ายทอดหรือฝึกอบรมในชุมชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ปัญหาที่เป็นประเด็นสำคัญของท้องถิ่น โดยทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในเวลา 4 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคม – กันยายน 2563 สามารถติดตามความเคลื่อนไหวการทำงานของอาสาสมัครชุมชน ได้ทางเพจ “อาสาสมัครชุมชนมหาวิทยาลัยทักษิณ”
นายครุศาสตร์ อินมณเทียร อาสาสมัครชุมชนที่ได้เข้าร่วมโครงการ “อาสาสมัครชุมชน” สู้ภัยโควิดกับมหาวิทยาลัยทักษิณ จากตำบลตะแพน อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นกับโครงการนี้เพราะเป็นงานที่ลงสนามการทำงานจริงในชุมชน ท้าทายความสามารถ ความคิด และการได้เข้าสังคมที่หลากหลาย ซึ่งถือเป็นงานแรกที่ได้รับค่าแรงอย่างเป็นทางการ ทำให้รู้สึกมีความสุขและอยากจะทำงานที่ได้รับมอบหมายจากโครงการนี้ให้ดีที่สุด เพื่อจะสามารถช่วยเหลือสังคมที่เปรียบเสมือนบ้านได้อย่างเต็มที่
สิ่งที่คาดหวังคือ ประสบการณ์จากการทำงานนี้ เป็นงานที่เข้าถึงคน ชุมชน ซึ่งจะทำให้พัฒนาความสามารถในการเข้าสังคมที่หลากหลาย ทั้งเพศ อายุ ประสบการณ์นี้นับเป็นสิ่งมีค่าทั้งมิตรภาพในกลุ่มอาสา และการทำงานเป็นทีม การรับฟังผู้อื่น อีกทั้งเป็นการสร้างสังคมเครือข่าย สังคมที่ดีในหลายหมู่บ้านในตำบลตะแพน ที่จะสะท้อนถึงความแน่นแฟ้นของสังคมท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง
นาย เจนณรงค์ แก้วนุ้ย อาสาสมัครชุมชนมหาวิทยาลัยทักษิณ จากตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ผมมีความตั้งใจมากสำหรับการร่วมโครงการอาสาสมัครชุมชนกับทางมหาวิทยาลัยทักษิณ เพราะคิดว่าหากเราได้ช่วยญาติพี่น้อง ช่วยชุมชนเราเอง เพื่อพัฒนาให้มีความก้าวหน้าในอนาคต อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจหรืออื่นๆ ที่พอจะทำได้ให้กับชุมชน สิ่งที่คาดหวัง คือ การได้รับความร่วมมือที่ดีจากทุกฝ่ายเพื่อคุณภาพการช่วยเหลือและสนับสนุนในอนาคต ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาบ้าน ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจ
02 มิถุนายน 2563
ผู้ชม 2001 ครั้ง