อาจารย์กฤติกา อินตา อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (หัวหน้าโครงการวิจัยฯ) พร้อมด้วยคณะนักวิจัย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาต้นแบบชุมชนอัจฉริยะบนฐานทุนทางสังคมในพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า ภายใต้โครงการวิจัยการใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบเพื่อพัฒนาต้นแบบชุมชนอัจฉริยะ บนฐานทุนทางสังคมในพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า” เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ณ ห้องห้วยแก้ว ส่วนจัดการต้นน้ำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) โดยได้รับเกียรติจาก นายเกรียงศักดิ์ ถนอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ กล่าวต้อนรับผู้ร่วมโครงการ
สำหรับการจัดโครงการดังกล่าวฯณ มีการนำเสนอข้อมูลโครงการวิจัย เรื่อง “การใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบเพื่อพัฒนาต้นแบบชุมชนอัจฉริยะบนฐานทุนทางสังคมในพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จากคณะผู้ทำวิจัย, แนวทางการจัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า ตามแผนแม่บทการจัดการชุมชนและแผนปฏิบัติการลิมา (Lima Action Plan), การระดมความคิด เรื่อง “บทบาทและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาต้นแบบชุมชนอัจฉริยะในพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จากตัวแทนกลุ่มผู้นำชุมชน, ผู้ประกอบการ, กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเยาวชน และสรุปแนวทางการพัฒนาต้นแบบชุมชนอัจฉริยะในพื้นที่สงวนชีวมณฑทลแม่สา-คอกม้า
อาจารย์กฤติกา หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า เป็นหนึ่งในพื้นที่สงวนชีวมณฑลจาก 4 แห่งในประเทศไทย โดยได้รับการประกาศจาก UNESCO/MAB ในปี พ.ศ.2520 เป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ของชุมชน คณะผู้วิจัยได้ค้นคว้าและลงพื้นที่ในการทำวิจัย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนำไปใช้ประโยชน์ได้กับหลายหน่วยงาน เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กลุ่มผู้นำชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเยาวชน อันจะนำไปสู่ทางการพัฒนาต้นแบบชุมชนอัจฉริยะต่อไป
29 มิถุนายน 2563
ผู้ชม 534 ครั้ง