ก.แรงงาน ร่วมไทยซัมมิท-มจธ. ถ่ายโอนความรู้ระดับวิศวกรรมพัฒนาบุคลากรสายงานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มุ่งไทยแลนด์ 4.0
วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.00 น. กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท (ธุรกิจชิ้นส่วนโลหะ) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาบุคลากรสำหรับสร้างนวัตกรรมการปฏิบัติงานในสายงานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อมุ่งสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ณ ห้องประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ อาคารเรียนรวม 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กรุงเทพมหานคร นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือดังกล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ตามแนวทางประชารัฐเป็นนโยบายหลักประการหนึ่งของรัฐบาลและนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานใช้เป็นแนวทางในการเพิ่มทักษะทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาแรงงานในสถานประกอบกิจการให้เป็นแรงงานฝีมือทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ รองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ก็เช่นกัน ต้องการยกระดับความร่วมมือให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2562-2564 ทั้งสามหน่วยงานได้ร่วมกันจัดฝึกอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 574 คน
นายประทีป กล่าวต่อไปว่า สำหรับปี 2565 เป็นต้นไป จะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตของอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีแผนจัดฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ ได้แก่ การเชื่อมจุดด้วยความต้านทานในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การควบคุมอุปกรณ์นิวแมติกส์ด้วย PLC การควบคุมการเชื่อมชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยหุ่นยนต์ และการตรวจสอบงานเชื่อม ณ ศูนย์ฝึกอบรมด้านเทคนิคการผลิต กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท (ธุรกิจชิ้นส่วนโลหะ) จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งเป้ามีผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 176 คน ในแต่ละหลักสูตรจัดฝึกอบรมขึ้นล้วนแล้วแต่อาศัยทักษะฝีมือ ความสามารถทางด้านช่าง และแรงงานฝีมือในสาขานี้ยังมีจำนวนไม่มาก การฝึกอบรมจึงมีส่วนในการผลิตแรงงานฝีมือป้อนสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อีกด้วย
“ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำความสำคัญของหน่วยงานภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาต่อการพัฒนากำลังแรงงานและประเทศ เพราะมีทั้งเทคนิคความเชี่ยวชาญ และบุคลากรที่มีความสามารถโดยเฉพาะด้านวิศวกรรม ซึ่งสามารถถ่ายโอนองค์ความรู้ทางวิชาการให้แก่กำลังแรงงานได้เป็นอย่างดี ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้เป็นอย่างดี” อธิบดีกพร. กล่าว
05 พฤษภาคม 2565
ผู้ชม 359 ครั้ง