วันนี้ (28 มิถุนายน 2565) นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตอุตสาหกรรม ระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับ นายคง เจีย เฟิง รองประธานฝ่ายอาวุโส บริษัท ซีเมนส์ จำกัด โดยมีว่าที่ร้อยตรี สมศักดิ์ พรหมดำ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นางชนิดา ยศสินศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายการเงินธุรกิจดิจิทัลอินดัสทรี และนายสมบูรณ์ อนันตธนะสาร หัวหน้าฝ่ายซอฟต์แวร์อุตสาหกรรม บริษัท ซีเมนส์ จำกัด เป็นพยานในบันทึกข้อตกลง ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 10 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวภายหลังพิธีลงนามความร่วมมือว่า การบูรณาการเป็นกลไกหนึ่งที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้นโยบายการทำงานแบบบูรณาการ โดยนำศักยภาพของแต่ละภาคส่วนมาช่วยกันพัฒนาคนของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้นักลงทุนได้เห็นความสามารถด้านฝีมือของแรงงานไทย และเป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจการลงทุนในประเทศไทย ปัจจุบันดิจิทัลที่มีความเจริญก้าวหน้าทั้งด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ ผู้ประกอบธุรกิจต้องเผชิญกับการแข่งขัน ภาคอุตสาหกรรมจะต้องปรับตัวเพื่อให้เกิดความได้เปรียบ โดยนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในการออกแบบและการผลิตมาใช้ในงานอุตสาหกรรม จึงจะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุน ประหยัดเวลาที่ใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทำงานดังกล่าวจึงสำคัญและจำเป็นต้องมีทักษะความรู้ สามารถใช้เทคโนโลยีนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจึงร่วมมือกับบริษัท ซีเมนส์ จำกัด พัฒนาทักษะให้แก่กำลังแรงงานและบุคลากรที่ทำงานในสถานประกอบกิจการ
อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากรมได้ร่วมกับบริษัทจัดฝึกอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องด้านเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตอุตสาหกรรมมีผู้ผ่านการฝึกอบรม รวมทั้งสิ้น 87 คน รวมทั้งบริษัทได้สนับสนุนการเก็บตัวเยาวชนเข้าแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ สาขาเมคคาทรอนิกส์ พร้อมจัดส่งผู้เชี่ยวชาญในการเป็นผู้ฝึกสอนให้แก่เยาวชนที่เก็บตัวเข้าแข่งขันอีกด้วย และในความร่วมมือครั้งนี้ ต้องการร่วมกันขยายเป้าหมายการฝึกให้มากขึ้น ในหลักสูตรด้านเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตอุตสาหกรรม จำนวน 4 รุ่น เป้าหมาย 80 คน เบื้องต้น จะดำเนินการฝึกให้แก่ ครูฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน คณะครู อาจารย์ในสถาบันการศึกษาด้านอาชีวศึกษาและหัวหน้างานในสถานประกอบกิจการ โดยใช้สถานที่ฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันพัฒนาบุคลากรเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy : MARA) ตั้งอยู่ที่ จ.ชลบุรี จำนวน 3 รุ่น และสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและเมคคาทรอนิกส์ (Automation and Mechatronics Academy : AMA) ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น จำนวน 1 รุ่น ซึ่งมีการจัดทำหลักสูตรการฝึกร่วมกันและใช้เป็นหลักสูตรกลางของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย
นายคง เจีย เฟิง รองประธานฝ่ายอาวุโส บริษัท ซีเมนส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทให้การสนับสนุนซอฟต์แวร์ด้านเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตอุตสาหกรรม จำนวน 20 ชุด จัดวิทยากรในการให้ความรู้ เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการฝึกอบรม รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องใช้ในการฝึกอบรมด้วย หลักสูตรที่ดำเนินการฝึก เช่น การใช้ PLC ควบคุมระบบอัตโนมัติ (PLC Automation) การจำลองการทำงานของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเบื้องต้น (Robotic Simulation) การออกแบบทางอุตสาหกรรมโดย NX Design การจำลองการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงานอุตสาหกรรม (Plant Simulation) เป็นต้น
28 มิถุนายน 2565
ผู้ชม 328 ครั้ง