เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 “เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน” และผู้แทนแนวร่วมแรงงานอีก 6 กลุ่ม ได้เดินทางเข้ามายื่นหนังสือเรียกร้องที่สำนักงานประกันสังคม (สำนักงานใหญ่) ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ขอให้เร่งจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมในส่วนผู้แทนนายจ้างและผู้แทนผู้ประกันตนโดยเร่งด่วน 2) ขอให้สำนักงานประกันสังคม ยกเลิกคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย มีสิทธิเลือกตั้งทั้งผู้แทน ฝ่ายนายจ้าง และผู้ประกันตน และ 3) ขอให้สำนักงานประกันสังคมยกเลิกและแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 64 โดยเสนอให้แก้ไขที่มาของคณะกรรมการประกันสังคมในส่วนผู้แทนนายจ้างและผู้แทนผู้ประกันตน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการขัดแย้งหลักการการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งผู้แทนของผู้ประกันตน และเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการ มีส่วนร่วมในการเลือกผู้แทน ของผู้ประกันตนโดยตรง และเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำเข้ามาแทรกแซงการบริหารจัดการและกำหนดนโยบายของกองทุนประกันสังคมได้ อันจะทำให้เกิดผลกระทบต่อกองทุนฯ และสิทธิของผู้ประกันตนโดยตรง ในการนี้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้มอบหมายให้ นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยนายพรเทพ ศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย เป็นผู้แทนรับหนังสือและข้อเรียกร้อง
นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม เปิดเผยกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดการเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เป็นกรรมการ ในคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ว่า สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) ซึ่งเป็นผู้แทน ฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งในเรื่องดังกล่าว นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อรักษาผลประโยชน์อันสูงสุดของลูกจ้าง ผู้ประกันตนเป็นสำคัญ พร้อมได้กำชับให้สำนักงานประกันสังคม จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างรอบคอบ บริสุทธิ์ ยุติธรรม สำหรับความคืบหน้าการจัดการเลือกตั้ง ในขณะนี้ สำนักงานประกันสังคม โดยอนุกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงานประกันสังคม และผู้แทนจากสำนักงาน กกต. อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำกฎหมายลำดับรองเพื่อใช้ประกอบการจัดการเลือกตั้งจำนวนกว่า 20 ฉบับ
นายศักดินาถ กล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินการเกี่ยวกับการตั้งผู้แทนนายจ้าง และผู้แทนผู้ประกันตน (บอร์ด สปส.) ที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ ขอให้นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เชื่อมั่นในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมที่ยึดมั่นในการดำเนินการที่คำนึงถึงความประหยัด คุ้มค่า โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดกลับคืนไปสู่ลูกจ้าง ผู้ประกันตนเป็นสำคัญ
07 กรกฎาคม 2565
ผู้ชม 453 ครั้ง